8 กรรมวิธีปรุงอาหารที่มีคุณภาพ
ที่สายสุขภาพต้องใส่ใจ

 1. ความสะอาด เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเนื่องจากอาหารที่เราบริโภคเข้าไปนั้นถ้าไม่สะอาดอาจนำมาซึ่งอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น หากมีการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงอาจทำให้ท้องเสียรุนแรงได้ หรือหากมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัส ก็จะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารหรือทำให้เกิดภูมิแพ้ได้ สำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคเรื้อรังยิ่งต้องคำนึงถึงเรื่องของความสะอาดเพราะบุคคลเหล่านี้หากได้รับเชื้อโรคหรือได้รับสารเคมีที่ปนเปื้อนมากับอาหารจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายที่รุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นเรื่องความสะอาดของอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องเลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการล้าง การผลิตที่สะอาด และผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อทุกขั้นตอนเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ

2. คุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาใช้ วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการปรุงประกอบอาหารนั้นเป็นสิ่งสำคัญ วัตถุดิบที่มีคุณภาพต้องเริ่มจากแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ความสด สะอาด การเก็บรักษาวัตถุดิบ วัตถุดิบที่ดีก็จะทำให้ได้อาหารที่มีคุณภาพตามมา ในบางครั้งผู้ผลิตอาจไม่ได้คำนึงถึงในจุดนี้วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารจึงอาจมีการปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอมหรือมีสี กลิ่น รส ที่ผิดไปจากเดิม แต่ด้วยความเสียดายอาจใส่ลงมาปรุงประกอบอาหารซึ่งทำให้คุณภาพและรสชาติของอาหารไม่ดี และอาจเกิดอันตรายกับผู้บริโภค ผู้ผลิตต้องมีการบริหารจัดการวัตถุดิบที่จะใช้ในแต่ละรูปแบบอาหารให้ดีเพื่อที่จะได้มีวัตถุดิบที่ดีและมีคุณภาพมาปรุงประกอบอาหารให้ผู้บริโภค

3. ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการผลิต เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้บริโภค การที่ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการด้านอาหารได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการผลิต เช่น การมีเครื่องหมาย อย. จากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration) กระทรวงสาธารณสุข โดยผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านั้นต้องมีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยในระดับสากล ระบบคุณภาพในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ GMP (Good Manufacturing Practice) โดยกำหนดสุขลักษณะที่สำคัญ เช่น สถานที่ตั้งและอาคารการผลิต เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการผลิต            การสุขาภิบาล การขนส่ง การมีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภค การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด รวมถึงบุคลากรและสุขลักษณะของผู้ประกอบอาหาร อีกมาตรฐาน คือ HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point) ที่เกี่ยวกับการควบคุมอันตรายทางชีวภาพหรือจากเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ควบคุมอันตรายจากสารเคมี สารปฏิชีวนะ สารเร่งการเจริญเติบโต สารเคมีที่อาจปนเปื้อนมากับอาหาร วัตถุกันเสีย สารเคมีที่อาจปนเปื้อนมากับเครื่องจักรต่าง ๆ และควบคุมอันตรายจากสิ่งปลอมปนที่อาจปนเปื้อนมาในอาหาร เช่น เศษแก้ว โลหะหนัก สี เป็นต้น หากผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตอาหารเป็นระดับย่อยหรือระดับกลางอาจยังไม่มีมาตรฐานเป็นของตัวเอง แต่ในการใช้วัตถุดิบต่าง ๆ ที่มีการรับรองมาตรฐานก็จะทำให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีมาตรฐานมากขึ้น

4. คุณค่าทางโภชนาการ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญมากเนื่องจากอาหารที่เราบริโภคเข้าไปนั้นจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใดชนิดหนึ่งต้องคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการที่จะได้รับด้วย คุณค่าทางโภชนาการจะรวมถึงพลังงานและสารอาหารที่จะได้รับ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ รวมทั้งใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณของน้ำตาล โซเดียม เพราะสารอาหารบางอย่างหากได้รับมากเกินไปอาจเกิดโทษกับร่างกาย เช่น โซเดียมอาจส่งผลในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาของไตหรือผู้ที่มีความดันโลหิตสูง สารบางอย่างหากได้รับน้อยไปก็ไม่ดี เช่น ใยอาหาร การที่เราเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าย่อมส่งผลดีต่อร่างกายทำให้ได้รับสารอาหารตามความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้ขับถ่ายสะดวก มีพละกำลังและยังส่งผลให้สุขภาพกายสุขภาพใจดีด้วย ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความต้องการสารอาหารที่เหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับช่วงวัย ความหนัก-เบาของกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน และภาวะสุขภาพในปัจจุบัน ดังนั้นจึงควรเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละบุคคลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

5. ความสด ความใหม่ ของผลิตภัณฑ์ ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรต้องคำนึงถึง เนื่องจากอาหารที่ผ่านการปรุงประกอบมานาน ไม่เพียงแต่รสชาติ สี กลิ่น และคุณค่าทางโภชนาการลดลงแล้ว ยังอาจมีเชื้อแบคทีเรียหรือมีสารที่ก่อโทษกับร่างกายได้ บางครั้งที่ผู้ผลิตอาหารปรุงประกอบอาหารไว้นานและมีการลดราคา ผู้บริโภคยังนำมาเก็บต่อจนว่าจะนำมาบริโภคก็อาจทำให้เกิดปัญหาต่อร่างกายตามมาได้ รูปแบบของอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีควรจะต้องมีวันที่ผลิต วันที่หมดอายุ หรือวันที่ที่ควรบริโภคก่อน และการเก็บรักษา เช่น ควรเก็บในอุณหภูมิเท่าไหร่ การอุ่นร้อนต้องทำอย่างไร ถ้าเป็นอาหารที่มีการเน่าเสียได้ง่ายควรปรุงประกอบใหม่ทุกวัน ไม่ควรเก็บค้างคืน และไม่ควรนำมาอุ่นซ้ำหรือผ่านการทอดหลายครั้ง

6. การบริการด้วยความรู้จริง ความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต ข้อนี้ผู้บริโภคหลายท่านอาจมองข้ามไป ทั้งที่เป็นข้อที่สำคัญมากอีกข้อหนึ่งในการเลือกซื้ออาหาร โดยเฉพาะการบริโภคอาหารของกลุ่มคนบางคนที่ต้องการความรู้เฉพาะด้าน ต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ทางโภชนาการ มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากอาหารสำหรับคนบางกลุ่ม เช่น เด็กเล็กมีความต้องการสารอาหารที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่หากจะเลือกซื้ออาหารอาจต้องมีบริการจากผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ ความเข้าใจต่อโรค มีความรู้ด้านอาหารเฉพาะโรค สามารถคำนวณความต้องการของพลังงานและสารอาหารได้ ผู้ผลิตอาหารอาจไม่ได้จบด้านอาหารและโภชนาการแต่ควรมีการอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ มีที่ปรึกษาเรื่องของสูตรอาหาร หลักการผลิตอาหารเพื่อให้อาหารได้มาตรฐานหรือสอบถามจากหน่วยงานที่ให้ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ

7. บรรจุภัณฑ์อาหารที่ได้รับมาตรฐานมีคุณภาพ ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรจะต้องคำนึงถึงเพราะหากใช้ภาชนะที่ไม่เหมาะสมกับรูปแบบและส่วนประกอบของอาหารจะทำให้อาหารมีคุณภาพลดลง และอาจส่งผลต่ออายุของอาหารนั้น ๆ โดยเฉพาะปัจจุบันภาชนะบรรจุอาหารได้เปลี่ยนโดยลดการใช้โฟมและพลาสติก มาใช้บรรจุภัณฑ์ เช่น กระดาษ หรือพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ แต่อาจเกิดปัญหาบางอย่างตามมา เช่น กระดาษบางประเภทไม่สามารถใส่อาหารที่มีของเหลวผสมมากได้ หรือการเก็บความร้อน หรือความทนต่ออาหารที่มีความร้อนสูง หรือแม้แต่บางครั้งผู้บริโภคนำอาหารอุ่นในไมโครเวฟ บรรจุภัณฑ์หลายชนิดก็ไม่สามารถทนต่อความร้อนสูงได้ มีการสลายตัวซึ่งอาจปนเปื้อนในอาหารและก่อให้เกิดโทษแก่ผู้บริโภคได้ ดังนั้นควรดูว่าบรรจุภัณฑ์กับชนิดหรือประเภทของอาหารมีความเหมาะสมกันหรือไม่

8. ความคุ้มค่ากับราคา ความคุ้มค่ากับราคาเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องใส่ใจก่อนเลือกซื้ออาหาร  เพราะในยุคของเศรษฐกิจนี้ เราควรจะคำนึงถึงปริมาณและคุณภาพของสินค้ารวมถึงราคาที่เราต้องจ่ายด้วยว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ บางครั้งผลิตภัณฑ์อาหารที่มีราคาสูงกว่าที่เราเคยซื้อ เราอาจมองว่าราคาสูงไป จึงเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันที่มีราคาต่ำกว่า แต่คุณภาพกับผลที่เกิดกับสุขภาพก็อาจแตกต่างกันไปได้ เราต้องพิจารณาว่าในราคานี้ถ้าเป็นเราที่ต้องคัดสรรวัตถุดิบเอง ผ่านกระบวนการปรุงประกอบอาหารเองแล้วเราจะขายที่ราคาเท่าไร พยายามอย่าเอาจำนวนเงินมาเป็นตัวตั้งต้นเสมอไป แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องซื้อทุกอย่างที่ราคาสูงกว่า เราต้องหัดอ่าน ศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์หรือดูกระบวนการผลิตอาหารเหล่านั้นว่าต้องผ่านขั้นตอนอย่างไรและราคาสมเหตุสมผลหรือไม่

SHARE