สารอาหารที่สำคัญ
เพื่อลูกน้อยวัยอนุบาล-ประถม

เด็กเป็นช่วงวัยที่มีการเรียนรู้และพัฒนาได้มากที่สุด ความพร้อมทางด้านร่างกายเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กมีความพร้อมทางด้านจิตใจตามมา เด็กที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงจะมีความกระตือรือร้นทั้งด้านการเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องให้บุคคลอื่นมาบังคับ ต่างจากเด็กที่ป่วยง่าย ไม่สบายบ่อย ร่างกายอ่อนแอ เด็กเหล่านี้จะไม่เข้าหาผู้คน มักใช้เวลาอยู่คนเดียวมากกว่าอยู่กับเพื่อน การได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพทางด้านร่างกายที่ดีได้ การวางรากฐานในทุกด้านให้พร้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองควรใส่ใจและจะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รอบตัวอยู่เสมอ
การพัฒนาโครงสร้างของสมองสำคัญมากในวัยเด็ก เพราะเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนามากที่สุด สมองแต่ละส่วนจะมีการทำงานเชื่อมโยงกัน ซึ่งประสิทธิภาพในการสื่อประสาทระหว่างกันของแต่ละเซลล์สมองจะมีผลต่อสมาธิ การเรียนรู้ การจดจำ และการคิดวิเคราะห์ของเด็กโดยตรง ในเด็กที่ขาดสารอาหารหรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอส่งผลทำให้มีน้ำหนักน้อย ตัวเล็กกว่าปกติ ภูมิต้านทานโรคต่ำ อาจเกิดโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย ยังส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง สติปัญญา และการเรียนรู้อีกด้วย ตัวอย่างสารอาหารที่บำรุงสมอง

1. โคลีน พบได้ทั้งผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ เช่น ไข่แดง ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต

2. เลซิติน พบในไข่ ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน

3. โอเมก้า 3 พบในปลาทะเล อะโวคาโด ไข่แดง และธัญพืช

4. ไอโอดีน ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง พบใน ปลาทู อาหารทะเล และนม การรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยมีความหลากหลายของอาหารทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วนและช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการดูแลในเรื่องของอาหารสำหรับลูกน้อยเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรละเลยหรือมองข้าม มิฉะนั้นอาจส่งผลเสียต่อเด็กในอนาคตได้
ความต้องการในอาหาร 5 หมู่ของลูกน้อยวัย อนุบาลและประถม

อาหารหมู่ที่ 1 ข้าว แป้ง น้ำตาล (สารอาหาร: คาร์โบไฮเดรต)
ให้พลังงาน ช่วยเติมเต็มความต้องการด้านการเจริญเติบโตและช่วยให้กิจกรรมการเคลื่อนไหวทางร่างกายเป็นไปได้ด้วยดี ปัญหาการได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอไม่ค่อยพบในเด็กไทย แต่ควรระวังการรับประทานเกินความต้องการของร่างกาย เด็กมักได้รับคาร์โบไฮเดรตจากการรับประทานขนม ของหวาน ลูกอม ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ ส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวเกิน อ้วนได้ง่าย เลือกกลุ่มของข้าว แป้ง ธัญพืช และธัญชาติที่ไม่ขัดสี ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท จะมีใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุสูงกว่ากลุ่มข้าว แป้งที่ขัดสี
ปริมาณที่แนะนำ 6-9 ทัพพีต่อวัน

อาหารหมู่ที่ 2 เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง (สารอาหาร: โปรตีน)
ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วยสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ให้พลังงานและช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการรับประทานอาหารและควรบริโภคอาหารทะเล สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ให้เด็กดื่มนมทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 แก้ว นมเป็นอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูงเหมาะสำหรับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต เด็กสามารถรับประทานนมครบส่วนได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนมพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยเพียงอย่างเดียว และรับประทานไข่ไก่หรือไข่เป็ด วันละ 1 ฟอง
ปริมาณโปรตีนที่แนะนำคือ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน หรือวันละ 8-12 ช้อนกินข้าว

อาหารหมู่ที่ 3 ไขมันและน้ำมัน (สารอาหาร: ไขมัน)
ใช้ประกอบอาหารเพื่อทำให้อาหารมีรสชาติ และมีสีสัน ให้พลังงานและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เด็กใช้พลังงานสูงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น วิ่งเล่นกับเพื่อน เล่นกีฬา ไขมันยังช่วยในเรื่องการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินดี และวิตามินเค ช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนของอวัยวะภายใน ควรเลือกใช้น้ำมันจากพืชในการประกอบอาหารให้แก่เด็ก เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น
ปริมาณที่แนะนำคือ 25-35% ของพลังงาน

อาหารหมู่ที่ 4 ผัก (สารอาหาร: วิตามินและแร่ธาตุ)
หั่นผักเป็นชิ้นเล็กหรือสับให้ละเอียด ในช่วงแรกที่ต้องการฝึกให้ลูกทานผักได้ควรเริ่มจากผักที่มีรสหวาน จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มชนิดของผักให้หลากหลายเพื่อให้เด็กได้รับวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วน เด็กที่ขาดวิตามินเอจะส่งผลให้มีการเจริญเติบโตช้า เลือกผักสีเหลืองและสีส้ม ได้แก่ แครอท ฟักทอง ข้าวโพด จะช่วยป้องกันการขาดวิตามินเอและช่วยส่งเสริมการมองเห็น
ปริมาณผัก 3-5 ฝ่ามือ (ของเด็ก) ต่อวัน

อาหารหมู่ที่ 5 ผลไม้ (สารอาหาร: วิตามินและแร่ธาตุ)
เด็กควรรับประทานผลไม้ทุกวัน ผลไม้เป็นแหล่งที่ดีของวิตามินและแร่ธาตุ ในส้มและฝรั่งมีวิตามินซีสูงที่ช่วยป้องกันโรคลักปิดลักเปิดหรือเลือดออกตามไรฟันและยังป้องกันโรคหวัดได้ เลือกชนิดของผลไม้ให้หลากหลายตามฤดูกาล จะได้ผลไม้ที่สดและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผลไม้เป็นอาหารมื้อว่างสำหรับเด็กได้ดีกว่าขนมขบเคี้ยว
ควรบริโภควันละ 2-3 ส่วน โดย 1 ส่วนประมาณ 1 ฝ่ามือ (ของเด็ก)
ตาราง พลังงานและสารอาหารสำหรับลูกน้อยวัยอนุบาล-ประถม
(อ้างอิงจาก: ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563)
ข้อแนะนำด้านอาหาร | |
พลังงาน | 1,200-1,500 แคลอรีต่อวัน (สำหรับเด็กอายุ 4-8 ปี) |
คาร์โบไฮเดรต | 45-65% ของพลังงานทั้งหมด ใยอาหาร 25 กรัมต่อวัน |
โปรตีน | ปริมาณโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน |
ไขมัน | 25-35% ของพลังงานทั้งหมด (สำหรับเด็กอายุ 2-8 ปี) |
โซเดียม | น้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน |
น้ำตาล | ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา |
SHARE