สารอาหารที่สำคัญ
เพื่อผู้ป่วยติดเตียง

     ผู้ป่วยติดเตียง (ผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองไม่ได้) คือ ผู้ที่ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลที่ตามมาหลังจากประสบอุบัติเหตุ หรือมีปัญหาด้านสุขภาพอยู่ก่อนแล้วแต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจึงนำไปสู่ภาวะที่ร่างกายไม่ตอบสนองจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั่นเอง พบได้ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของอายุยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เลี่ยงไม่ได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีปัญหาการเคี้ยวและกลืนอาหารร่วมด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

 

     สำหรับปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง คือ อาการท้องผูก เนื่องจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นชนิด ปริมาณ หรือสัดส่วนของอาหารก็ตาม ย่อมส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารหรือระบบการย่อยอาหารมีปัญหาตามมา เมื่อลำไส้เกิดการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้าในระหว่างการย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากระบบทางเดินอาหารได้อย่างปกติ จึงเกิดการตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานานจนมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ อุจจาระจึงมีลักษณะแห้ง แข็ง และมีขนาดใหญ่ขึ้น ขับถ่ายออกได้ลำบาก นอกจากนี้การเคลื่อนไหวร่างกายจะส่งผลให้ลำไส้มีการบีบตัว ช่วยลำเลียงของเสียออกจากร่างกายได้ ในทางกลับกันผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองไม่ได้มักมีการขยับร่างกายน้อยมากหรือในบางรายแทบจะไม่ได้ขยับร่างกายเลย ดังนั้นการได้รับใยอาหารหรือจุลินทรีย์ชนิดดีจะช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้

ความต้องการในอาหาร 5 หมู่ของผู้ป่วยติดเตียง

อาหารหมู่ที่ 1 ข้าว แป้ง น้ำตาล (สารอาหาร: คาร์โบไฮเดรต)

    เลือกรับประทานข้าว แป้ง ธัญพืช และธัญชาติที่ไม่ขัดสี เป็นหลัก ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท เนื่องจากมีใยอาหารมากกว่ากลุ่มที่ผ่านการขัดสี ทำให้ขับสารพิษในร่างกายและของเสียต่าง ๆ ได้มากขึ้น ลดปัญหาท้องผูก ควรปรุงประกอบอาหารให้มีความอ่อนนุ่ม ง่ายต่อการย่อยและดูดซึม 

ปริมาณที่แนะนำคือ 8-12 ทัพพีต่อวัน 

อาหารหมู่ที่ 2 เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง (สารอาหาร: โปรตีน)

     การได้รับโปรตีนไม่เพียงพอมีผลต่อมวลกล้ามเนื้อ ในผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยอยู่แล้ว หากได้รับโปรตีนไม่เพียงพออาจทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายลดลงกว่าเดิมได้ โปรตีนช่วยในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ ช่วยให้มีภูมิต้านทานโรค และร่างกายแข็งแรง ควรเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา หากรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ควรปรุงประกอบให้เปื่อย หรือสับให้ละเอียด เพื่อให้อาหารที่ได้มีความอ่อนนุ่ม การรับประทานโยเกิร์ตรสธรรมชาติเป็นการเพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดีให้กับลำไส้ จึงช่วยลดอาการท้องผูกได้ 

ปริมาณโปรตีนที่แนะนำคือ 0.8-1 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน หรือวันละ 8-15 ช้อนกินข้าว 

อาหารหมู่ที่ 3 ไขมันและน้ำมัน (สารอาหาร: ไขมัน)

     เลือกไขมันและน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวเป็นหลัก เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก ในการทำอาหาร หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการเผาผลาญพลังงานไม่มากเนื่องจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่ลดลงจึงควรรับประทานไขมันแต่น้อย ให้ร่างกายได้รับกรดไขมันที่จำเป็นอย่างเพียงพอ และไม่สะสมในร่างกายจนทำให้หลอดเลือดแข็งและเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญ เช่น สมองและหัวใจ ลดลง

ปริมาณที่แนะนำคือ 20-35% ของพลังงาน 

อาหารหมู่ที่ 4 ผัก (สารอาหาร: วิตามินและแร่ธาตุ)

     รับประทานผักให้หลากหลายสีและเลือกรับประทานผักที่ผ่านการปรุงจนสุกแล้ว ด้วยวิธีต้ม ตุ๋น นึ่ง ให้เลี่ยงหรือลดการรับประทานผักดิบเนื่องจากย่อยยากและทำให้ท้องอืด การเลือกผักที่เป็นเครื่องเทศหรือสมุนไพรมาทำอาหาร เช่น พริกไทย กระเทียม ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด จะช่วยเพิ่มรสและกลิ่นของอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมีความอยากอาหารมากขึ้น

ผักและผลไม้รวมกันควรบริโภคให้ได้ 400 กรัมต่อวัน  ปริมาณผัก 3-5 ฝ่ามือต่อวัน

อาหารหมู่ที่ 5 ผลไม้ (สารอาหาร: วิตามินและแร่ธาตุ)

     หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ขนุน น้อยหน่า เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและอ้วนได้ ผลไม้สามารถทานได้ไม่จำกัดแต่ควรทานเป็นกลุ่มผลไม้หลากหลายสีสลับกัน เลือกที่มีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย ได้แก่ มะละกอสุก กล้วยสุก ส้ม แตงโม ส่วนผลไม้ที่มีเนื้อแข็งควรนำมาปั่นหรือบดให้ละเอียดก่อน (ความละเอียดของผลไม้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการกลืนของผู้ป่วย)

ควรบริโภควันละ 2-3 ส่วน โดย 1 ส่วนประมาณ 1 ฝ่ามือ  

ตาราง พลังงานและสารอาหารสำหรับผู้ป่วยติดเตียง
(อ้างอิงจาก: ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563)

ข้อแนะนำด้านอาหาร
พลังงาน25-30 แคลอรีต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน
คาร์โบไฮเดรต45-65% ของพลังงานทั้งหมด
ใยอาหาร 25 กรัมต่อวัน
โปรตีน10-15% ของพลังงานทั้งหมด
ไขมัน20-35% ของพลังงานทั้งหมด
โซเดียมน้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน
น้ำตาลไม่ควรเกิน 6 ช้อนชา

SHARE