ปรุงอาหารให้อร่อย
เพื่อผู้ดูแลสุขภาพ

“อนุมูลอิสระ” เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เซลล์ในร่างกายเกิดความเสื่อมถอย การมีอนุมูลอิสระในร่างกายสูงเกิดขึ้นจากหลายเหตุ ได้แก่ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียดสะสม ได้รับมลภาวะจากภายนอก เช่น ควันจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ควันบุหรี่ แสงยูวี เป็นต้น และยังรวมไปถึงการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย สาเหตุดังกล่าวทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ร่างกายเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อได้ง่าย ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือจิตใจล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยกันทั้งสิ้น โดยปกติแล้วร่างกายสามารถสร้างเอนไซม์มากำจัดอนุมูลอิสระเหล่านี้ได้ แต่การเพิ่มขึ้นของอายุมีผลให้ความสามารถในการสร้างเอนไซม์ลดลง การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากอาหารเป็นอีกวิธีที่จะช่วยกำจัดอนุมูลอิสระได้ วิธีการปรุงประกอบอาหารที่ต่างกันย่อมมีผลต่อสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในอาหารเช่นเดียวกัน หากมีเคล็ดลับในการทำอาหารจะช่วยให้ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระยังคงอยู่ในปริมาณสูง เพื่อให้ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง การมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเปรียบเสมือนมีเกราะป้องกันร่างกายที่ดี
รวมเคล็ดลับด้านอาหารและโภชนาการสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ

- เลือกข้าว แป้ง ธัญพืช ธัญชาติที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีให้น้อย

มีใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ส่งผลดีต่อระบบขับถ่ายและระบบภูมิคุ้มกัน
- เลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ลอกหนังออก

ไขมันจากสัตว์เป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัว เมื่อสะสมในร่างกายปริมาณมากทำให้เกิดโรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจได้ รับประทานถั่วเมล็ดแห้งเสริม เช่น ถั่วเหลือง นอกจากจะได้โปรตีนแล้วยังได้ไอโซฟลาโวนที่เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ
- ดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว เลือกนมที่มีไขมันต่ำ ได้แก่ นมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย ผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตสในนมสามารถดื่มนมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต หรือนมวัวสูตรปราศจากแลคโตสแทนได้

- ผักผลไม้ก่อนนำมาบริโภคต้องผ่านการล้างให้สะอาด

- เลือกกินผักผลไม้ให้ได้หลากหลายสี เพื่อให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลาย

- ส่วนใหญ่ความร้อนจะทำลายสารต้านอนุมูลอิสระ ควรทานผักและผลไม้สดจะได้ประโยชน์สูงสุด
- ผักบางชนิดเมื่อได้รับความร้อนจะทำให้สารต้านอนุมูลอิสระภายในเปลี่ยนแปลงไป มีทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณและชนิดของสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารไลโคปีนในมะเขือเทศเมื่อผ่านความร้อนจะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น สาร
จินเจอรอลในขิงเมื่อได้รับความร้อนจะเปลี่ยนเป็นสารโชกาออลและซิงเจอโรน - ดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรหรือน้ำจากผลไม้สดแทนการดื่มน้ำหวาน/น้ำอัดลม เช่น น้ำขิง น้ำใบเตย น้ำมะพร้าว


- เลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวในการทำอาหาร ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนล่า แทนน้ำมันที่มาจากสัตว์ จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ


- เลี่ยงการเติมเครื่องปรุงเพิ่มลงในอาหารที่ปรุงสุกแล้ว เช่น ก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย ข้าวผัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น)
- รับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย หรือรู้จักการแลกเปลี่ยนอาหารที่อยู่ในหมวดเดียวกัน เช่น มื้อเช้าทานขนมปังไส้ทูน่ากับนมเป็นอาหารหลักแทนข้าว เมื่อใดที่อยากรับประทานของหวานก็สามารถทานได้แต่ควรลดปริมาณอาหารในมื้อถัดไปหรือทานผักผลไม้ที่มีใยอาหาร ช่วยทำให้อิ่มท้องแทน เนื่องจากของหวานมักให้พลังงานสูงอยู่แล้ว


- เลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผู้บริโภคสามารถดูรายละเอียดจากฉลากโภชนาการเพื่อเปรียบเทียบสินค้าได้
หลักการอ่านฉลากโภชนาการ
การอ่านฉลากก่อนซื้อเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ได้รับอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูปตรงตามความต้องการ สามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกัน เพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าได้ เนื่องจากฉลากอาหารเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานที่จะบอกว่าอาหารนั้นผลิตที่ใด มีส่วนประกอบ วิธีการปรุง การเก็บรักษาอย่างไร ผลิต และ/หรือหมดอายุเมื่อใด รวมถึงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร คำเตือนที่ควรระวัง
1. ฉลากโภชนาการแบบเต็มและแบบย่อ

- ปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภค เป็นปริมาณการกินต่อครั้งที่แนะนำให้ผู้บริโภครับประทาน
- จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ หมายถึง เมื่อรับประทานครั้งละ “หนึ่งหน่วยบริโภค” แล้วอาหารชนิดนี้จะกินได้กี่ครั้ง นั่นเอง ตัวอย่าง นมพร้อมดื่ม หากหนึ่งหน่วยบริโภคคือ 1 กล่อง หรือ 250 มิลลิลิตร จำนวนครั้งที่กินได้ก็คือ 1 แต่หากเป็นขวดลิตร ควรแบ่งกิน (ตามหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิง) ครั้งละ 200 มิลลิลิตร ซึ่งจะกินได้ถึง 5 ครั้ง
- คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค หมายถึง เมื่อกินตามปริมาณที่ระบุในหนึ่งหน่วยบริโภคแล้ว จะได้พลังงานเท่าใด สารอาหารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าใด และปริมาณนี้คิดเป็นร้อยละเท่าไรของปริมาณที่เราควรได้รับต่อวัน ดูร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
- ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน หมายถึง ร้อยละของปริมาณสารอาหารที่มีในหนึ่งหน่วยบริโภค เมื่อเทียบกับปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน แล้วคิดเทียบเป็นร้อยละ ตัวอย่าง อาหารนี้ให้คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 8 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน หมายความว่าถ้าเรากินอาหารนี้ปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภค เราจะได้รับคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 8 และเราต้องกินอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตจากอาหารอื่นอีกร้อยละ 92
2. ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts: GDA)

ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอหรือฉลากหวานมันเค็ม ที่มีการแสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ มีรายละเอียดดังนี้
- คุณค่าทางโภชนาการต่อ… = แสดงปริมาณที่เข้าใจง่ายของหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ เช่น 1 ถ้วย 1 ซอง 1 กล่อง 1 ถุง 1 แท่ง เป็นต้น
- ควรแบ่งกิน…ครั้ง = แสดงจำนวนครั้งที่แนะนำให้รับประทาน ซึ่งคำนวณได้จากปริมาณหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์หารด้วยหนึ่งหน่วยบริโภค
- ค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม) = ปริมาณที่ร่างกายได้รับ เมื่อเรารับประทานผลิตภัณฑ์นี้หมดภายในครั้งเดียว (เป็นปริมาณสารอาหารของทั้งบรรจุภัณฑ์)
- ค่าร้อยละของพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม เมื่อเทียบกับปริมาณสูงสุดที่สามารถบริโภคได้ต่อวัน
ปริมาณสูงสุดที่สามารถบริโภคได้ต่อวัน = ในหนึ่งวันไม่ควรได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมมากกว่าปริมาณสูงสุดที่แนะนำ ดังนี้
- พลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี
- น้ำตาล 65 กรัม
- ไขมัน 65 กรัม
- โซเดียม 2,400 มิลลิกรัม
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
SHARE