ปรุงอาหารให้อร่อย
เพื่อลูกน้อยวัยอนุบาล-ประถม

เด็ก เป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต จึงต้องการพลังงานและสารอาหารเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจให้เจริญเติบโตสมวัย มีร่างกายที่แข็งแรงพร้อมจะเรียนรู้และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เมนูอาหารต้องเน้นให้มีพลังงานเพียงพอ โดยต้องมีสารอาหารครบถ้วน หากเด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจะส่งผลให้เด็กตัวเล็กเตี้ย แคระแกร็น กล้ามเนื้อลีบ ภูมิต้านทานต่ำ สติปัญญาไม่ดี ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ช้า เด็กส่วนใหญ่มักรับประทานผักผลไม้น้อยหรือบางคนอาจไม่ทานเลยทำให้ขาดวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการพัฒนาของสมอง อีกทั้งความสนใจในการรับประทานอาหารของเด็กจะมุ่งเน้นไปที่รูปร่างหน้าตาและความอร่อยของอาหารมากกว่าการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ที่แท้จริง ในปัจจุบันเด็กไทยฟันผุและเป็นโรคอ้วนมากขึ้นจากการรับประทานอาหารที่มีรสหวานจัด เช่น ลูกอม ขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน เป็นต้น ดังนั้นผู้ปกครองจะต้องมีเคล็ดลับในการทำอาหารที่ช่วยลดความขมของผัก สร้างสรรค์เมนูให้น่ารับประทานมากขึ้น หรือให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการทำอาหารบางมื้อ เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และยังช่วยสร้างเสริมทักษะประสบการณ์การเรียนรู้ให้ลูกน้อยช่างสังเกต รู้จักชนิดและทราบถึงประโยชน์ของผักผลไม้มากขึ้น
รวมเคล็ดลับด้านอาหารและโภชนาการสำหรับลูกน้อย
- เลือกข้าว แป้ง ธัญพืช ธัญชาติที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย มีใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ครบถ้วน แทนการทานขนมหวานหรือขนมขบเคี้ยวที่มีแต่น้ำตาลและไขมันสูง


- เลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ลอกหนังออก เน้นการรับประทานเนื้อปลา ปลาทะเล มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง

- ดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว ในเด็กที่แพ้น้ำตาลแลคโตสในนมสามารถดื่มนมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต หรือนมวัวสูตรปราศจากแลคโตสแทนได้

- ผักผลไม้ก่อนนำมารับประทานต้องผ่านการล้างให้สะอาด

- เลือกรับประทานผักผลไม้ให้ได้หลากหลายสี เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุที่หลากหลายซึ่งจำเป็นต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก

- นำผลไม้มาทำเป็นเมนูหวานเย็นแทนขนมหวาน คั้นน้ำผลไม้แล้วใส่ในพิมพ์พลาสติกที่ทำไอศกรีมแช่ในช่องแช่แข็งก็จะได้ไอศกรีมผลไม้ที่มีความหวานจากน้ำตาลธรรมชาติในผลไม้ อาจผสมนมหรือโยเกิร์ตลงไปเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับรสชาติของไอศกรีมผลไม้

- เตรียมผลไม้แช่เย็นให้พร้อมไว้เสมอ เด็กมักจะเหนื่อยและหมดแรงหลังจากทำกิจกรรมหรือวิ่งเล่นมา เนื่องจากร่างกายมีการใช้พลังงานสูง น้ำตาลในผลไม้จะถูกย่อยและดูดซึมไปเป็นอาหารของสมองได้อย่างรวดเร็ว มีประโยชน์ ช่วยเติมพลังและให้ความสดชื่นกับลูกน้อยได้ดีกว่าการดื่มน้ำหวานหรือน้ำอัดลม

- ช่วงเวลาที่เร่งรีบในมื้อเช้าพ่อแม่สามารถทำอาหารง่าย ๆ ใช้เวลาไม่นาน โดยเน้นให้สารอาหารครบ 5 หมู่ได้ เช่น แซนด์วิชทูน่าใส่แครอทและหัวหอมทานคู่กับนมจืด ขนมปังปิ้งไข่ดาวทานคู่กับน้ำส้ม ข้าวไข่คนใส่มะเขือเทศและต้นหอมทานคู่กับโกโก้ร้อน

- ในเด็กที่รับประทานอาหารยากหรือรับประทานอาหารได้น้อย พ่อแม่ต้องสังเกตว่าเป็นเพราะเมนูอาหารหรือเกิดจากตัวเด็กเอง เริ่มจากทำอาหารให้หลากหลายมีทั้งของคาว ของหวาน ลองแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อย ๆ หลังมื้อหลัก หรือถามความต้องการของเด็กว่าอยากทานอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ หากยังไม่มีปฏิกิริยาตอบรับที่ดีควรพาเด็กไปพบแพทย์ การขาดสารอาหารเป็นระยะเวลานานจะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโต
วิธีที่ช่วยให้ลูกน้อยรับประทานผักผลไม้ที่มีประโยชน์
- เป็นแบบอย่างที่ดี หากพ่อแม่มีความต้องการให้ลูกรับประทานผักผลไม้แต่ตัวของพ่อแม่เองแทบจะไม่เคยรับประทานผักผลไม้ให้ลูกเห็นเลย ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะสอนให้เด็กทานผักผลไม้ได้ เพราะเด็กมักจะจดจำและปฏิบัติตามสิ่งที่เห็นจากผู้ใหญ่ อันดับแรกพ่อแม่ควรเริ่มต้นด้วยการเป็นต้นแบบที่ดีจัดอาหารเมนูผักให้มีทุกมื้อ รับประทานผักผลไม้ให้ลูกเห็นเป็นประจำ อาจสอดแทรกคุณประโยชน์ของผักผลไม้ลงไปในบทสนทนาระหว่างรับประทานอาหารเพื่อสร้างความคุ้นชินกับผักผลไม้ให้แก่เด็ก
- เริ่มจากผักที่มีรสหวาน การเริ่มต้นที่ดีจะทำให้ลูกไม่มีอคติกับรสชาติของผัก ใช้ผักที่มีรสหวานอยู่ในตัวจะเป็นกลุ่มผักสีส้มหรือสีเหลืองมาทำอาหารเป็นหลัก เช่น แครอท ฟักทอง ข้าวโพด เมื่อลูกทานได้ให้นำผักชนิดอื่น ๆ มาเสริมในเมนูทีละนิด

- สีสันสดใส การใช้ผักหลากหลายชนิดในการทำอาหารจะช่วยให้อาหารมีสีสันน่ารับประทานและยังได้รับวิตามิน แร่ธาตุที่หลากหลาย การหมุนเวียนเมนูผักยังทำให้พ่อแม่ทราบด้วยว่าลูกชอบหรือไม่ชอบรับประทานผักชนิดไหน เพื่อที่พ่อแม่จะได้หาวิธีการปรับปรุงแก้ไขการทำอาหารหรือนำผักที่ลูกไม่ชอบทานไปทำเป็นเมนูใหม่ให้มีความอร่อยมากยิ่งขึ้น
- ใส่ลงในจานโปรด พ่อแม่ต้องลองสังเกตเมนูโปรดของลูก ๆ ว่าเมนูใดที่ลูกชอบทาน ทำกี่ครั้งก็ทานหมดตลอดในครั้งถัดมาให้ลองเพิ่มผักลงไปในส่วนผสมทีละนิด ปั่นหรือบดให้ละเอียด เพื่อไม่ให้เขารู้สึกฝืนหรือรับรู้ว่ารสชาติอาหารเปลี่ยนไปเพราะอาจทำให้เมนูโปรดของลูกกลายเป็นเมนูที่ลูกไม่รับประทานอีกเลย
- ตกแต่งจานอาหาร เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี มักจะสนใจหน้าตาของอาหาร ตื่นเต้นเมื่อได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่อยู่เสมอ พ่อแม่สามารถสร้างสรรค์เมนูอาหารให้ไม่น่าเบื่ออีกต่อไปโดยการนำอาหารมาจัดจานให้สวยงาม ทำเป็นรูปการ์ตูนหรือสิ่งของที่ลูกชอบโดยใช้ผักเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของอาหารหรือจะนำผักมาจัดจานให้สวยงามก่อนก็ได้ เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับผัก เมื่อเห็นบ่อยครั้งเขาก็จะเกิดความสงสัย อยากรู้อยากเห็นว่าผักชนิดนี้รสชาติเป็นอย่างไรท้ายที่สุดเขาก็จะรับประทานผักชนิดนั้นได้เองโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องบังคับ


- เวลาเหมาะสม หมายถึง ช่วงเวลาที่เด็กจะรับประทานอาหารโดยไม่พิถีพิถันหรือไตร่ตรองในการเลือกรับประทานมากนัก ช่วงเวลาดังกล่าวก็คือหลังจากที่ลูกทำกิจกรรมหรือวิ่งเล่นมาเหนื่อย ๆ เขาจะหิวและไม่เรื่องมากกับการกิน ความหิวทำให้เด็กรับประทานอะไรก็อร่อยไปเสียหมดจึงเป็นเวลาเหมาะสมที่พ่อแม่จะให้ลูกรับประทานผักผลไม้ในช่วงนี้ ยิ่งเป็นผลไม้ที่แช่เย็นจะช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับลูกได้เป็นอย่างดี
- ชวนลูกทำกับข้าว เมื่อถึงเวลาเข้าครัวทำอาหารเมนูผักให้ลูกน้อยได้ทานให้ลองชวนลูกมาทำกับข้าวด้วยกัน โดยอาจให้เขาช่วยล้างผัก หรือสอนเขาหั่นผักเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ลูกมีส่วนร่วมในการใส่ผักลงหม้อหรือกระทะเอง เมื่อถึงเวลาทานข้าว ลูกก็จะรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นคนทำอาหาร และเกิดอยากชิมฝีมือที่ตัวเองทำ โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยให้กำลังใจและให้คำชื่นชมเขาอยู่เสมอ

SHARE