ปรุงอาหารให้อร่อย
เพื่อผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจหลายอย่าง เช่น มีมวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูกและอัตราการเผาผลาญพลังงานลดลง มีความอยากอาหารลดลง มีปัญหาในการเคี้ยวหรือกลืนอาหารจากฟันที่เริ่มไม่ดี กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยน้อยลง อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย น้อยใจง่าย เนื่องจากระบบต่าง ๆ ของร่างกายมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง วัยนี้จึงต้องการพลังงานจากอาหารลดน้อยลงกว่าวัยหนุ่มสาวเนื่องจากเป็นวัยที่มีกิจกรรมทางกายลดลง แต่ความต้องการสารอาหารยังคงเดิม เพื่อนำไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ บำรุงร่างกายให้ทำงานได้อย่างปกติ และสร้างภูมิต้านทานต่อโรคให้สามารถป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุคือการขาดสารอาหารนั่นเอง ดังนั้นควรมีเคล็ดลับในการทำอาหารให้มีเนื้อสัมผัสนุ่ม เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย น่ารับประทาน อาจใช้สมุนไพรเพิ่มกลิ่นรสเพื่อกระตุ้นให้อยากอาหาร จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวการจัดอาหารให้ผู้สูงอายุรับประทานควรคำนึงถึงความสอดคล้องกับแผนการรักษาของแพทย์
รวมเคล็ดลับด้านอาหารและโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ
- เลือกข้าว แป้ง ธัญพืช ธัญชาติที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย มีใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ครบถ้วน

- เลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ลอกหนังออก เน้นการรับประทานเนื้อปลา เนื้อไก่เป็นหลัก ย่อยง่าย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

- ในผู้สูงอายุที่รับประทานเนื้อสัตว์ได้น้อย ร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ ยิ่งส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อลดลง ควรรับประทานไข่ขาวหรือกลุ่มถั่วเมล็ดแห้งเพื่อให้ได้โปรตีนทดแทนจากเนื้อสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง
- เลือกวิธีปรุงประกอบอาหารที่ทำให้เนื้อสัตว์เปื่อย นุ่ม ไม่เหนียว โดยใช้การต้ม ตุ๋น นึ่ง แทนการทอด ระยะเวลาที่ใช้จะต้องไม่นานเกินไป เพื่อให้น้ำในอาหารยังคงอยู่ไม่ระเหยไปเสียหมดจนเนื้อสัมผัสแข็งกระด้าง
- ดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว เลือกนมที่มีไขมันต่ำ ได้แก่ นมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย ผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตสในนมสามารถดื่มนมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต หรือนมวัวสูตรปราศจากแลคโตสแทนได้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกผุกระดูกพรุน

- ผักผลไม้ก่อนนำมารับประทานต้องผ่านการล้างให้สะอาด

- เลือกรับประทานผักผลไม้ให้ได้หลากหลายสี เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุที่หลากหลายซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย เน้นผลไม้ที่นิ่ม เคี้ยวง่าย เช่น แตงโม มะละกอ เลี่ยงผลไม้รสหวานจัด เช่น ขนุน ทุเรียน มะม่วงสุก

- ผักต่าง ๆ ควรปรุงโดยวิธีการต้มหรือนึ่ง หลีกเลี่ยงการกินผักสดที่มีผลทำให้เกิดแก๊สและทำให้ท้องอืด ผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องท้องอืด แน่นท้อง จากการกินผักสดก็สามารถกินได้
- หั่นวัตถุดิบตามแนวขวางเส้นลายกล้ามเนื้อในเนื้อสัตว์ หรือตามแนวขวางของเส้นใยในผัก หั่นให้เป็นชิ้นเล็ก นำไปปั่นหรือบดให้ละเอียด (ความละเอียดขึ้นอยู่กับความสามารถในการกลืนของผู้สูงอายุแต่ละคน)
- เบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารได้น้อย ให้ลดปริมาณอาหารลงแล้วเพิ่มจำนวนมื้ออาหารระหว่างมื้อหลักแทน เน้นอาหารพลังงานสูง โปรตีนสูง เช่น โจ๊กไก่ใส่ไข่ขาวคน ซุปไก่ใส่มันฝรั่ง
- ใช้สมุนไพรเพื่อเพิ่มกลิ่นรสให้อาหารหรือใช้มะนาวในการปรุงอาหารแทนน้ำส้มสายชู อาหารหรือเครื่องดื่มที่มี
รสเปรี้ยวจะช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้ เช่น ต้มยำปลากะพง ยำสามกรอบ ชาเขียวน้ำผึ้งมะนาว - ขนมหวานควรทานแต่น้อย เลือกรับประทานเมนูที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกาย เช่น กล้วยบวชชี เต้าส่วน
ถั่วแดงกวน ถั่วเขียวต้มน้ำขิง - เลือกซื้อวัตถุดิบและอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ปราศจากสารเคมี
หลักการเลือกซื้ออาหารสด

เนื้อสัตว์
- เนื้อหมู เลือกซื้อเนื้อที่สด สีต้องเป็นสีแดงอมชมพู ไม่ควรซื้อหากพบว่าเนื้อหมูเป็นสีแดงเข้ม หรือคล้ำเขียว
- เนื้อไก่ พิจารณาสีรอบ ๆ ทั้งหมดจะต้องไม่มีสีเขียวช้ำ ถ้าเลือกซื้อไก่อ่อนเนื้อจะนุ่มกว่า และหนังไม่เหนียว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเมนูอาหารว่าต้องการไก่แบบใด วิธีดูว่าเป็นไก่แก่ หรือ ไก่อ่อน มีวิธีดังนี้ ไก่แก่ ปลายเล็บมน หนังใต้อุ้งเท้าจะหนาแข็ง เดือยยาว ไก่อ่อน เล็บจะแหลม หนังใต้อุ้งเท้าจะบาง เดือยจะสั้น ถ้าเป็นไก่สาวจะไม่เห็นเดือยไก่ที่สมบูรณ์ เนื้ออกจะหนาและนุ่ม
- เนื้อวัว ต้องไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีเม็ดสาคูที่เป็นตัวอ่อนของพยาธิ ควรเลือกเนื้อที่มีสีแดง ไขมันสีเหลือง หากพบสีเขียวคล้ำแสดงว่าไม่สด
- ปลา กดเบา ๆ เนื้อไม่เละ ยุ่ย ตาใส เหงือกแดง
- กุ้ง กุ้งที่สดหัวต้องติดกับตัวแน่น ไม่มีกลิ่นเหม็นคล้ายแอมโมเนีย เนื้อแข็ง ตาใส เปลือกใส
- หอย เปลือกหอยควรปิดสนิท เคาะเป็นเสียงทึบ ไม่มีกลิ่นเหม็น หอยที่แกะเปลือกแล้ว ต้องมีสีสด น้ำที่แช่ไม่มีเมือกและกลิ่นเหม็น

ผัก
เลือกซื้อผักที่สะอาด สด ต้นและใบไม่เปื่อยยุ่ย หรือเหี่ยวแห้งช้ำ จนผิดลักษณะปกติทั่วไป ถึงแม้ ใบอาจจะมีรอยแมลงแทะแต่ไม่สามารถนำมาชี้วัดว่าปลอดสารฆ่าแมลงได้ ดังนั้นยังไงก็ต้องล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน ถ้าเป็นผักที่รับประทานหัว เช่น มัน หัวไชเท้า ให้ลองยกดู ผักประเภทกินหัวที่ดี จะมีน้ำหนัก เนื้อแน่น เลือกซื้อที่ผิวเรียบ รูปร่างไม่บิดเบี้ยวผิดแปลก

ผลไม้
ควรเลือกซื้อและรับประทานผลไม้ตามฤดูกาล เพราะนอกจากจะซื้อได้ในราคาถูกแล้ว ยังได้ผลไม้ที่สดมากกว่า มีให้เลือกมากมาย สำหรับวิธีการเลือกซื้อผลไม้ จะต่างไปตามแต่ละชนิด
-
- ส้มเขียวหวาน ควรเลือกผิวบาง ผลกลมแป้น
- มะละกอ ควรเลือกที่แก่จัด ผิวสีเขียวอมแสด ผิวนวล สีของเนื้อมะละกอขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
- สับปะรด เลือกที่มีตาขนาดใหญ่ เปลือกสีเขียวอมเหลือง
- แอปเปิล ผิวเรียบสวย ไม่มีร่องรอยถลอก เมื่อกดเบา ๆ เนื้อต้องแน่นและมีกลิ่นหอมของแอปเปิล สังเกตที่ขั้วของผลแอปเปิลจะต้องดูสด ไม่เหี่ยวแห้ง
SHARE