ปรุงอาหารให้อร่อย
เพื่อผู้ป่วยติดเตียง

ปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยติดเตียง (ผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองไม่ได้) คือการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอและอาการท้องผูก เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักมีปัญหาในการเคี้ยว การกลืนอาหาร รวมทั้งยังมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยหรือแทบไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายเลย ส่งผลให้การทำงานของระบบย่อยอาหารมีประสิทธิภาพลดลง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง ดังนั้นผู้ดูแลควรเลือกประเภทอาหารให้หลากหลาย เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้เพื่อเสริมใยอาหาร และเลือกใช้วิธีปรุงประกอบอาหารที่ทำให้อาหารมีเนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่ม ย่อยง่าย เช่น วิธีการต้ม ตุ๋น นึ่ง แต่จะต้องมีเคล็ดลับที่ทำให้อาหารอร่อยด้วยเพื่อกระตุ้นความอยากอาหารของผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ง่ายและมีความสุขกับการรับประทานอาหารมากขึ้น เป็นการส่งเสริมสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจควบคู่ไปด้วยกัน โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วนตลอดจนมีภาวะโภชนาการที่ดี
รวมเคล็ดลับด้านอาหารและโภชนาการสำหรับผู้ป่วยติดเตียง
- เลือกกินผักผลไม้ให้ได้หลากหลายสี เพื่อให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลาย เลือกผลไม้ที่มีความอ่อนนุ่ม ย่อยง่าย เช่น มะละกอ แตงโม ส้ม ผลไม้ที่มีเนื้อแข็งควรนำมาทำเป็นเมนูสมูทตี้ปั่น เติมมะนาว น้ำผึ้ง เพิ่มรสให้เครื่องดื่ม

- ผักผลไม้ก่อนนำมารับประทานควรต้องผ่านการล้างให้สะอาด

- ผักที่รับประทานควรผ่านการปรุงให้สุก เพราะผักดิบทำให้เกิดแก๊ส ท้องอืด ย่อยยาก โดยผักที่ผ่านการนึ่งจะมีสารอาหารต่าง ๆ ในผักมากกว่าการต้มที่ใช้อุณหภูมิสูง แต่ก็ไม่ควรนึ่งผักนานเกิน 20 นาที เพราะจะทำให้สูญเสียสารอาหารบางชนิดในผักได้ เช่น วิตามินที่ละลายในน้ำ (วิตามินบีและวิตามินซี)
- เลือกข้าว แป้ง ธัญพืช ธัญชาติที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย มีใยอาหารสูง ส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย


- เลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่

- เมนูแกงจืดหรือแกงต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบของสามเกลอ คือ กระเทียม รากผักชี พริกไทย ให้นำสามเกลอไปผัดในกระทะก่อน จะช่วยให้มีกลิ่นหอมมากขึ้น
- การใช้น้ำซุปจากกระดูกหมูหรือไก่ที่เคี่ยวไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง มาทำอาหารจะช่วยให้อาหารมีรสชาติที่ดี และเพิ่มรสชาติของผักในเมนูอาหารด้วย
- การตุ๋นเมนูที่มีเนื้อปลา ให้นำปลาไปทอดก่อนจึงนำมาตุ๋น เนื้อปลาจะนุ่มและมีกลิ่นหอมยิ่งขึ้น ลดกลิ่นคาวในปลาด้วยการใส่สมุนไพร ขิง ตะไคร้ ใบมะกรูด
- หากกลืนอาหารลำบาก ให้เน้นการรับประทานอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบในทุกมื้อหรือมีน้ำซุปให้ทานคู่กับข้าว หั่นหรือสับเนื้อสัตว์และผักให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ หากกลืนอาหารลำบากมาก ๆ ให้นำอาหารไปปั่น (ความละเอียดขึ้นอยู่กับความสามารถในการกลืนของผู้ป่วย) ก่อนนำมาให้ผู้ป่วยรับประทาน
- ในคนที่มีความอยากอาหารลดลง รับประทานอาหารได้น้อย ให้ปรับเพิ่มมื้ออาหารให้บ่อยขึ้นมากกว่าการรับประทานมื้อหลักเพียง 3 มื้อ โดยอาหารในแต่ละมื้อต้องให้พลังงานและโปรตีนสูง เช่น ซุปข้าวโพด โจ๊กหมูสับใส่ไข่ นม
- ท้องผูก อาจเกิดจากความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การขาดการออกกำลังกายหรือเดินน้อยลงก็ทำให้เกิดท้องผูกได้ ทางแก้คือ ลองกินโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติก ดื่มน้ำหรือของเหลวให้เพียงพอ เพิ่มใยอาหารให้มากขึ้นจากการรับประทานผักและผลไม้ที่อ่อนนุ่ม
เคล็ดลับการทำอาหารด้วยวิธีตุ๋น ต้ม นึ่ง ย่าง
การตุ๋นเนื้อหมู เนื้อไก่

หั่นเนื้อตามขวางของลายเส้นกล้ามเนื้อเพราะจะทำให้เนื้อไม่เหนียวและเครื่องปรุงซึมเข้าเนื้อได้เร็วขึ้น เวลาตุ๋นต้องใส่น้ำและเครื่องปรุงลงไปในหม้อก่อน เมื่อเดือดจึงใส่เนื้อสัตว์ลงไป เคี่ยวสักครู่ พอเนื้อสุกให้ใส่ผักที่ต้องการตามลงไป ขณะเคี่ยวต้องเคี่ยวด้วยไฟอ่อนและปิดฝาหม้อให้สนิทเพื่อให้ความร้อนในหม้อทำให้อาหารสุกและรักษาคุณค่าทางอาหาร
การต้มอาหารเมนูต่าง ๆ

เป็นการใช้ความร้อนสูงเพื่อทำลายเชื้อก่อโรคที่อาจมีอยู่ในวัตถุดิบ สารอาหารบางส่วนก็อาจถูกทำลายไปด้วย ดังนั้นควรต้มโดยใช้น้ำน้อย ๆ รอให้น้ำเดือดจึงใส่วัตถุดิบลงไป จะทำให้อาหารสุกเร็วขึ้นภายในระยะเวลาไม่นาน คุณค่าทางอาหารจะยังคงอยู่มากขึ้น ถ้าเป็นการต้มเนื้อสัตว์ให้ต้มทั้งชิ้นแล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อลวกให้ด้านในสุก เป็นการถนอมคุณค่าอาหารได้อีกทางหนึ่ง ถ้าเป็นอาหารประเภทต้มจืด คุณค่าทางอาหารของเนื้อสัตว์และผักต่าง ๆ จะละลายอยู่ในน้ำที่ต้ม จึงควรนำน้ำซุปมารับประทานด้วยเพื่อให้ได้รับคุณค่าทางอาหารและเพิ่มความอร่อย
การนึ่งข้าวเหนียว

วิธีในการนึ่งข้าวเหนียวมี 2 วิธี คือการนึ่งโดยใช้ลังถึงและการนึ่งโดยใช้หวด แช่ข้าวเหนียวอย่างน้อย 30 นาที หากใช้ลังถึงในการนึ่ง ให้ใช้ผ้าขาวบางรองและเกลี่ยข้าวให้ทั่วลังถึง โดยเว้นบริเวณรูของลังถึงให้ไอน้ำสามารถผ่านขึ้นมาได้ ให้ใส่น้ำไม่เกินครึ่งหม้อ ใช้เวลาในการนึ่งประมาณ 20 นาที จากนั้นกลับอีกด้านของข้าวเหนียวขึ้นมา กรณีใช้หวดนึ่ง เติมน้ำในหม้ออย่าให้ถึงก้นหวด ไม่อย่างนั้นข้าวเหนียวจะแฉะเกินไป ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีเช่นกัน พลิกให้ข้าวกลับด้าน แล้วนึ่งต่ออีกประมาณ 15 – 20 นาที เมื่อข้าวเหนียวสุก นำมาเทลงภาชนะ ใช้ช้อนหรือทัพพีคลุกข้าวให้ทั่ว ข้าวเหนียวจะนุ่มเสมอกัน ไม่แฉะด้านใดด้านหนึ่ง หากกลัวข้าวเหนียวสุกไม่ทั่วถึง ก่อนนำข้าวเหนียวไปนึ่ง อย่าอัดข้าวแน่นจนเกินไป
การนึ่งไข่ตุ๋น

เมื่อน้ำเดือดให้วางชามไข่ตุ๋นลงในลังถึง นำผ้าขาวบางพันฝาลังถึง โดยใช้หนังยางผูกไว้ เพื่อกันไอน้ำลงไปในไข่ตุ๋น ปิดฝาแล้วหรี่ไฟให้เหลือไฟอ่อน นึ่งประมาณ 15 นาที เพื่อให้ไข่ตุ๋นมีเนื้อเนียนสวย หรือจะกรองไข่หลังตีเสร็จด้วยกระชอนก่อนนำไปนึ่งก็ได้ ถ้าอยากได้รสชาติกลมกล่อม เปลี่ยนจากการใช้น้ำเปล่าเป็นนมสดหรือน้ำซุป ก็จะได้ไข่ตุ๋นหอมอร่อยยิ่งขึ้น
การนึ่งปลา

เริ่มด้วยล้างปลาให้สะอาดจนหมดเมือกเสียก่อน ขอดเกล็ดปลาออกให้หมด ล้างด้วยน้ำเปล่า ขัดด้วยส้มมะขามเปียก จนไม่เหลือเมือกปลา ใส่น้ำ 1/4 ของหม้อนึ่ง รอให้น้ำเดือด จึงนำปลาใส่ลังถึงที่รองก้นด้วยใบแมงลัก เพื่อดับกลิ่นคาวและหากกลัวเนื้อปลาแตกให้ผสมน้ำมะนาวและเกลือบาง ๆ ทาให้ทั่วตัวปลาก่อนนำไปนึ่ง เท่านี้ก็จะได้ปลานึ่งที่ปราศจากกลิ่นคาวและดูน่ารับประทาน
การย่างเนื้อสัตว์ต่าง ๆ

นำวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ใบตอง หรือใบเตย มาห่อหุ้มอาหารก่อนนำไปย่างจะทำให้อาหาร มีกลิ่นหอม
น่ารับประทาน วิธีนี้ต้องคำนึงถึงการกระจายความร้อนให้ทั่วถึง ดังนั้นความหนาหรือขนาดของชิ้นอาหารที่นำมาย่าง ควรมีขนาดพอเหมาะกับเตาเพื่อให้อาหารสุกทั่วถึงโดยที่ภายนอกไม่ไหม้ไปเสียก่อน
SHARE