ปรุงอาหารให้อร่อย
เพื่อผู้ป่วยมะเร็ง

     ผู้ที่เป็นมะเร็งส่วนใหญ่แล้วจะมีปัญหาทุพโภชนาการหรือการขาดสารอาหารตามมาหลังจากทำการรักษามะเร็ง ซึ่งปัญหาการขาดสารอาหารอาจมาได้ทั้งจากอาการของโรคมะเร็งเอง ผลจากการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้รังสีบำบัด การให้เคมีบำบัด หรือการรักษาในแบบอื่น ๆ นอกจากนี้ภาวะจิตใจของผู้ที่เป็นมะเร็งเองก็ร่วมส่งผลทำให้ไม่อยากอาหารหรือบางคนมีความเชื่อต่าง ๆ ก็จำกัดประเภทหรือรูปแบบอาหารบางอย่างไป ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารและพลังงานไม่เพียงพอ ปัญหาที่ตามมาเมื่อไม่ได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย เกิดภาวะโลหิตจาง น้ำหนักตัวลดต่ำกว่าเกณฑ์ สูญเสียกล้ามเนื้อ สมรรถภาพทางกายลดน้อยลง ทำให้การรักษาไม่ได้ผลและใช้เวลานานขึ้น คุณภาพชีวิตต่ำลง ดังนั้นจึงควรมีวิธีการปรุงประกอบอาหารเพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร เพิ่มเคล็ดลับความอร่อยและปลอดภัยสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็ง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีโภชนาการที่ดีหลังจากการรักษา เพื่อเพิ่มพลังงานและความแข็งแรงให้แก่ผู้ป่วย เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคแทรกซ้อน และการกลับมาของมะเร็ง เพื่อลดผลข้างเคียงจากโรคมะเร็ง รวมถึงการรักษา

รวมเคล็ดลับด้านอาหารและโภชนาการสำหรับผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง

  • ปรุงอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ อย่าทำอาหารทีละเยอะเกินไปเพราะจะทำให้ไม่อยากกินและกินได้น้อยลง 
  • เลือกกินผักผลไม้ให้ได้หลากสี และปอกเปลือกหรือปรุงให้สุกเสมอ เพื่อลดการเจือปนจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรค 
  • เลือกข้าว แป้ง ธัญพืช ธัญาติที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย แต่ต้องทำให้สุก กลุ่มนี้จะให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและใยอาหาร รวมทั้งสารพฤกษเคมี  
  • เลือกเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ปลา ไข่ขาว หรือโปรตีนจากพืช เช่น จากถั่วต่าง ๆ เต้าหู้ 
  • ความอยากอาหารลดลง ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง และต้องมีพลังงานและโปรตีนสูง เช่น นมอุ่น ๆ ซุปเห็ดข้น  ขนมปังผสมธัญพืชทาแยมผลไม้หรือเนยถั่ว โจ๊กหมูสับใส่ไข่ มันฝรั่งอบ ถั่วเขียวหรือลูกเดือยต้มน้ำตาล  ไอศกรีมเชอร์เบท 
  • การรับรสและกลิ่นอาหารเปลี่ยน  สามารถที่จะใช้สมุนไพรเช่น น้ำมะนาว ใบมินต์ ช่วยในการรับรสการรับประทานผลไม้แช่เย็น ดื่มน้ำผลไม้ เช่น น้ำมะนาวโซดาน้ำสตรอว์เบอร์รี น้ำมะนาวปั่น 

หากมีอาการคลื่นไส้ ให้กินครั้งละน้อย ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง อาหารมัน อาหารใส่สีที่ทำให้ดูไม่สดใส ควรมีน้ำผลไม้คั้นสดไว้ดื่มเมื่อมีอาการคลื่นไส้  

  • ถ้าผลจากการรักษาทำให้เมื่อบริโภคอาหารแล้วมีรสชาติเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีรสขมในปาก ลองใช้มะนาว ขิงฝาน หรือสมุนไพรที่มีรสชาติเปรี้ยวเพื่อช่วยให้กระตุ้นต่อมน้ำลาย จะช่วยให้บริโภคอาหารได้อร่อยขึ้น 
  • หากบริโภคได้น้อย รู้สึกจุก อิ่มเร็ว ให้แบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ แทนการบริโภค มื้อหลัก แต่ละมื้ออย่าบริโภคทีละมากเกินไป เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ขาว ถั่ว เนื้อสัตว์ส่วนที่ไม่ติดมัน ลดการดื่มเครื่องดื่มในระหว่างมื้ออาหาร 
  • หากมีแผลในปากควรเลือกอาหารที่อ่อนนุ่มและเย็น หรือที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม อาหารเผ็ด อาหารหมักดองที่กัดปาก อาหารร้อนจัด หรือกลุ่มอาหารทอดที่อาจบาดเนื้อเยื่อช่องปากได้
  • ปวดท้อง แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เนื่องจากในผู้ที่เป็นมะเร็งบางรายจะไม่ค่อยได้มีกิจกรรม ไม่ค่อยได้เดิน แต่จะนั่งหรือนอนมากทำให้อาหารไม่ย่อยได้ ทางแก้ คือ เน้นอาหารที่ปรุงสุก ลดการกินอาหารที่ต้องเคี้ยวมาก ๆ และทำให้ได้แก๊สเข้าท้อง ลดอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ เช่น กลุ่มพวกถั่ว ผักผลไม้สด อาหารที่มีน้ำตาลเทียม เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยได้
  • ท้องผูก อาจเกิดจากยาหรือความเครียดรวมถึงการขาดการออกกำลังกายหรือเดินน้อยลงก็ทำให้เกิดท้องผูกได้ ทางแก้คือ ลองกินโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติก ดื่มน้ำหรือของเหลวให้เพียงพอ เพิ่มใยอาหารให้มากขึ้นจากผักและผลไม้ที่อ่อนนุ่ม ปรับเวลาการกินอาหารให้เป็นเวลา
  • ท้องเสีย เป็นอีกหนึ่งอาการที่เกิดได้สลับกับท้องผูก จากยาและความเครียด หรืออาหารบางอย่างที่ไม่สะอาดก็เร่งให้เกิดการท้องเสียในคนที่เป็นมะเร็งได้ ควรดื่มน้ำและเตรียมน้ำเกลือแร่ไว้ กินอาหารที่แบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ งดอาหารพวกนม ผักผลไม้สด ต้องปรุงอาหารสดใหม่ อุ่นอาหารให้ร้อนก่อนกินเสมอ
  • กรณีที่น้ำลายเหนียว แนะนำให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลือก่อนรับประทานอาหาร จะช่วยให้การรับประทานอาหารดีขึ้น
  • เม็ดเลือดขาวต่ำ แนะนำอาหารที่มีแบคทีเรียต่ำ โดยก่อนการเตรียมหรือปรุงอาหาร ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และภาชนะที่ใช้ต้องสะอาด อาหารที่เตรียม เช่น ผักสด ควรแช่น้ำและล้างผ่านน้ำอย่างน้อย 2-3 นาที และปรุงอาหารให้สุก
  • ผักและผลไม้ก่อนนำมาบริโภค ควรต้องผ่านการล้างให้สะอาด

รูปแบบต่าง  ของการล้างผักผลไม้ 

  • การใช้น้ำส้มสายชูที่มีกรดน้ำส้มความเข้มข้น 5% ของกรดน้ำส้ม ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:10 แช่นาน 10-15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด สามารถลดปริมาณสารพิษลงร้อยละ 60-84 ข้อจำกัดคือผักอาจมีกลิ่นของน้ำส้มสายชูติดมา และผักบางอย่าง เช่น ผักกาดขาว ผักกาดเขียว อาจมีการดูดรสเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชูทำให้รสชาติเปลี่ยนไป และภาชนะที่ใส่ผักล้างไม่ควรเป็นพลาสติก
  • การใช้ด่างทับทิม (Potassium permanganate) มีลักษณะเป็นเกล็ดแข็ง สีม่วง สามารถละลายได้ในน้ำ ให้สีชมพูหรือม่วงเข้ม เป็นสารประกอบประเภทเกลือ โดยใช้ปริมาณ 20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่ไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดสามารถลดสารพิษลงได้ร้อยละ 35-43 ข้อจำกัดคือการใช้ด่างทับทิมในปริมาณที่มากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร และหากสูดดมไอระเหยของด่างทับทิมเข้าไปมากก็จะทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหาได้ รวมถึงหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้
  • ล้างผักด้วยน้ำไหลผ่าน โดยเด็ดผักเป็นใบ ๆ ใส่ตะแกรงโปร่ง เปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ใช้มือช่วยคลี่ใบผักและถูไปมาบนผิวใบของผักผลไม้นานประมาณ 2 นาที สามารถลดสารพิษลงได้ร้อยละ 25-63 วิธีนี้เป็นวิธีที่เรียกได้ว่าดีมากวิธีหนึ่งแต่มีข้อเสียอยู่ว่าใช้เวลานานในการล้างและใช้น้ำปริมาณมาก

  • ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดสามารถลดสารพิษลงได้ร้อยละ 27-38 วิธีการนี้ลดปริมาณได้ไม่มากและอาจมีเกลือและรสเค็มไปอยู่ในผักหรือผลไม้

  • ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกกิ้งโซดา) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่นาน 15 นาที แล้วนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารพิษลงได้ถึงร้อยละ 90-95 ข้อจำกัดของการใช้เบกกิ้งโซดาคือมีส่วนผสมของโซเดียมอยู่และอาจดูดซึมเข้าสู่ผักหรือผลไม้ และหากล้างไม่สะอาดการได้รับเบกกิ้งโซดาในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ท้องเสียได้

  • วิธีการต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน ลดปริมาณสารพิษได้ประมาณร้อยละ 50 วิธีการนี้เป็นอีกวิธีที่ดีและปลอดภัยแต่จะทำให้ผักหรือผลไม้เสียคุณค่าทางอาหารไปกับน้ำและความร้อน เช่น วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 3  
  • การปอกเปลือกหรือการลอกชั้นนอกของผักออก เช่น กะหล่ำปลี ถ้าลอกใบชั้นนอกออกจะปลอดภัยมากกว่า แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดจะช่วยลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 27-72
  • วิธีการแช่ผักในน้ำยาล้างผักที่มีวางขายอยู่โดยใช้ความเข้มข้นประมาณ 0.3% ในน้ำ 4 ลิตร แช่ผักนานประมาณ 15 นาที จะลดปริมาณสารพิษฆ่าแมลงได้ร้อยละ 25-70 แต่วิธีนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังต้องดูให้ดีว่าน้ำยาล้างผักมีส่วนประกอบอะไรบ้าง เพราะในบางครั้งน้ำยาล้างผักจะแทรกซึมเข้าไปในผักซึ่งอาจเป็นอันตรายได้

SHARE