5 บริการแสนสะดวก
สำหรับผู้ป่วยติดเตียง


1. บริการอาหารปั่นผสมพร้อมรับประทาน Blenderized diet delivery
เป็นอีกหนึ่งบริการที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงเพื่อให้มีเวลาดูแลผู้ป่วยในด้านอื่น ๆ มากขึ้น โดยอาหารจากการบริการอาหารประเภทนี้จะมีนักโภชนาการหรือนักกำหนดอาหารเป็นผู้ผลิตอาหารตามคำสั่งแพทย์โดยตรง ผู้รับบริการจะต้องนำคำสั่งแพทย์ไปแจ้งกับผู้ให้บริการทุกครั้งเพื่อความแม่นยำในการผลิตอาหารให้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วย วัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารมีความสดใหม่ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย

2. บริการอาหารปั่นผสมสำเร็จรูปสำหรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับอาหารทางสายยางหรือผู้ที่มีปัญหาด้านการกลืนอาหาร Ready-to-use tube-feeding blenderized diets
รูปแบบของอาหารในการบริการประเภทนี้จะอยู่ในรูปของผงคล้ายกับผงเครื่องดื่มที่สามารถนำไปผสมน้ำที่อุณหภูมิห้องในอัตราส่วนตามที่ระบุไว้แล้วให้ผู้ป่วยรับประทานได้เลย ช่วยให้ประหยัดเวลามากกว่าการเตรียมอาหารปั่นผสมเอง สูตรอาหารสำเร็จรูปถูกคิดค้นและพัฒนาโดยนักกำหนดอาหารวิชาชีพร่วมกับโรงพยาบาล ทำให้ผู้รับบริการมั่นใจได้ว่าอาหารปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เนื่องจากมีการควบคุมการกระจายสัดส่วนพลังงานจากสารอาหารหลัก ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน นอกจากนี้ยังควบคุมความเข้มข้นของสารละลายเพื่อให้อาหารมีความหนืดอยู่ในระดับที่สามารถไหลผ่านสายให้อาหารได้ อาหารปั่นผสมสำเร็จรูปนี้สามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องแช่เย็นได้นานถึง 6 เดือน

3. บริการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสูตรสำเร็จหรืออาหารทางการแพทย์ Commercial formula
อาหารในบริการประเภทนี้จะมีทั้ง 2 รูปแบบ คือ เป็นผงและของเหลว เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเพราะผลิตภัณฑ์อาหารถูกผลิตขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละกลุ่มโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคตับ โรคไต สามารถรับประทานทดแทนอาหารมื้อหลักในผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสายให้อาหารหรือรับประทานเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยที่รับประทานอาหารได้น้อย

4. บริการดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ถึงบ้านพัก Home care registered nurse
เป็นบริการดูแลสุขภาพทางด้านร่างกายของผู้ป่วยถึงบ้านพักโดยพยาบาลวิชาชีพ เนื่องจากผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ มีการพลิกตัวทุก ๆ 4 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดแผลกดทับ การดูแลเรื่องความสะอาดก็เป็นสิ่งสำคัญหากญาติของผู้ป่วยไม่มีเวลาหรือดูแลได้ไม่ทั่วถึงอาจเกิดผลเสียกับผู้ป่วยได้ ดังนั้นการบริการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

5. บริการกายภาพบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย
เป็นการให้บริการเพื่อฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้ป่วย ที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยทีมสหวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด) ด้วยการให้ความสำคัญของการฟื้นฟูทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และการเรียนรู้ให้กลับมามีความสามารถในการทำงาน การดำรงชีวิตอย่างมีความสุขของผู้ป่วย การให้บริการจะมี 2 รูปแบบ คือ 1. การให้บริการที่ศูนย์กายภาพบำบัด 2. การให้บริการที่บ้านผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการตรวจประเมินจากนักกายภาพบำบัด เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาทางกายภาพบำบัด โดยจะมีนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ และเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วย ทำกายภาพบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย
SHARE