EAT WELL TO FEEL GOOD กินดีมีสุข

คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าอาหารนั้นมีความสัมพันธ์ต่ออารมณ์ ความคิด และความรู้สึกของคุณ?
จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดพบว่า อาหารและอารมณ์มีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญให้คำอธิบายว่าอาหารมีผลต่ออารมณ์ ความคิด และความรู้สึก ในแง่ของสถานที่ เวลาในการบริโภคอาหาร และประเภทของอาหารที่บริโภค ซึ่งจะส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของเรา อีกทั้งอารมณ์และความรู้สึกของเราก็มีผลต่อการเลือกบริโภคอาหาร นั่นหมายความว่าอาหารส่งถึงอารมณ์และอารมณ์ก็เป็นตัวที่ทำให้เลือกอาหารที่บริโภคเข้าไปเช่นเดียวกัน

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลอง ค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่าการบริโภคอาหารบางกลุ่มทำให้อารมณ์ดี มีความสุข และอาหารบางกลุ่มก่อให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมก็ส่งผลต่อการบริโภคอาหาร เช่น อากาศที่เปลี่ยนแปลง ฤดูกาลที่แตกต่างกัน (เช่น ฤดูหนาวคนมักจะหิวและบริโภคอาหารไขมันสูงมากกว่าฤดูร้อน)
Elizabeth Somer ผู้เขียนหนังสือ “Food and Mood” กล่าวถึงสารสื่อประสาทกว่า 70 ชนิด โดยอาหารที่เราบริโภคเข้าไปนั้นมีผลโดยตรงต่อสารสื่อประสาทในร่างกาย โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อารมณ์ ความรู้สึก ความเครียด การนอนหลับ และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น หากอาหารที่เราบริโภคเข้าไปไม่มีวิตามินในกลุ่มวิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี และแร่ธาตุจำพวกเหล็ก ซีลีเนียม และแมงกานีส ประสิทธิภาพการทำงานของสารสื่อประสาทจะลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการทำงานของสมองทำให้รู้สึกอ่อนล้า เครียด หดหู่ และไม่แจ่มใส โดยสารสื่อประสาทแต่ละชนิดจะมีหน้าที่แตกต่างกัน เซโรโทนิน (Serotonin) ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความอยากอาหารและการนอนหลับ หากสมองหลั่งสารสื่อประสาทชนิดนี้ออกมาไม่เพียงพอก็จะทำให้เกิดความเครียดนอนไม่หลับและมีพฤติกรรมที่รุนแรง Serotonin สร้างจากกรดอะมิโนจำเป็นชนิดทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งพบได้ในอาหารจำพวกโปรตีน คนจึงคิดว่าควรบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูงเพื่อให้ร่างกายได้รับสาร Serotonin มากขึ้นซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องซะทีเดียว เนื่องจากการที่บริโภคอาหารโปรตีนสูงเพียงอย่างเดียวมากเกินไป ร่างกายจะได้รับกรดอะมิโนชนิดอื่นที่มีอยู่ในอาหารมากขึ้นตามไปด้วยซึ่งกรดอะมิโนชนิดอื่นจะเข้าไปขัดขวางการสร้าง Serotonin และในทางตรงกันข้ามหากบริโภคอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตร่วมกับโปรตีนจะทำให้ Tryptophan เปลี่ยนไปเป็น Serotonin ได้มากขึ้น

แหล่งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ดีที่สุด คือ ธัญพืช เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ เมื่อบริโภคนอกจากจะได้รับคาร์โบไฮเดรตแล้วยังมีใยอาหารซึ่งช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ลองปรับมาบริโภคไข่ต้ม ข้าวซ้อมมือ และส้ม 1 ลูก ในมื้อเช้า จะช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับเช้าวันใหม่
สารสื่อประสาทชนิดอื่น เช่น โดปามีน (Dopamine) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ผลิตจากกรดอะมิโน Tyrosine หากขาดสารสื่อประสาทสองชนิดนี้มีผลทำให้เกิดความรู้สึกกดดัน ว้าวุ่นใจ เบื่อหน่ายต่อสิ่งรอบข้าง อีกทั้งสารสื่อประสาทสองชนิดนี้ไม่ต้องใช้คาร์โบไฮเดรตในการนำพาเข้าสู่เซลล์ ต้องการโปรตีนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นหากต้องการให้ร่างกายสร้างสารสื่อประสาทสองชนิดนี้ในอาหารมื้อหลักควรมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ เช่น สเต๊กหมูพริกไทยดำ สลัดอกไก่ โยเกิร์ตรสธรรมชาติ ไก่ย่าง และอย่าลืมบริโภคผักและผลไม้อย่างต่อเนื่องทุกวันเพื่อให้ได้รับใยอาหารที่ช่วยให้อิ่มท้องได้นานขึ้น และยังได้รับวิตามิน และแร่ธาตุเพียงพออีกด้วย

ไขมันกับการทำงานของสมอง เชื่อหรือไม่ว่า 60% ของสมองนั้นประกอบไปด้วยไขมันซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fatty Acid; PUFAs) เป็นไขมันที่มีความสำคัญต่อเนื้อเยื่อของสมอง ทำหน้าที่ในการควบคุมการผลิตและการทำงานของ Serotonin และสารสื่อประสาทชนิดอื่น ๆ แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไขมันทุกประเภทจะดีต่อระบบประสาทและสมองรวมถึงกระบวนการความคิดเหมือนกันหมด
โอเมก้า-3 เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่พบได้ในปลาทะเลน้ำลึก เช่น แซลมอน ซาดีน ทูน่า ซึ่งไขมันจากปลานี้จะเพิ่ม PUFAs ให้กับสมอง ส่วนไขมันชนิดอิ่มตัวที่ได้มาจากไขมันจากสัตว์ คุกกี้ เค้ก หรือน้ำมันทอดอาหารนั้นมีผลในทางตรงกันข้ามกับโอเมก้า-3 กล่าวคือ กรดไขมันชนิดอิ่มตัวจะเป็นตัวขัดขวางและทำลายสารสื่อประสาทนั่นเอง ดังนั้นควรบริโภคอาหารให้หลากหลายลองหันมาบริโภคปลาแซลมอนหรือปลาทูน่ากระป๋องบ้างในบางมื้อเพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่ดี

เครื่องดื่มเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คาเฟอีนและแอลกอฮอล์สามารถเพิ่มความรู้สึกสดชื่นให้กับผู้คนได้ ดังนั้นคนจึงนิยมและติดในชาหรือกาแฟ และเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ อารมณ์ความรู้สึกของเราในแต่ละช่วงก็เป็นตัวกำหนดประเภทของเครื่องดื่มที่เราจะเลือกดื่มเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อเรารู้สึกง่วงนอนไม่สดชื่นในตอนเช้าหรือตอนบ่าย เรามักจะหากาแฟดื่มกัน หรือในตอนเย็นหลังอาหารมักดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อความผ่อนคลาย แต่เมื่อดื่มเครื่องดื่มพวกนี้มากเกินไปจะเป็นผลเสียต่อร่างกายในที่สุด

ในกาแฟ 1 แก้ว ประกอบไปด้วย คาเฟอีนประมาณ 300 มิลลิกรัม ซึ่งสามารถเพียงพอที่จะกระตุ้นให้สมองตื่นตัวอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้บริโภคกาแฟตั้งแต่ในตอนเช้าเนื่องมาจากการดื่มกาแฟในตอนบ่ายหรือตอนเย็นจะส่งผลกระทบต่อสมองและการนอนหลับที่ยาวนานกว่า และการได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูงนั้นมีผลต่อการ กระตุ้นประสาทให้เกิดความวิตกกังวล เครียด คิดมาก เพราะฉะนั้นเครื่องดื่มในตอนบ่ายควรจะเป็นประเภทน้ำผลไม้ หรือชาอ่อน ๆ ผสมมะนาว จะทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่ามากขึ้น สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นักวิจัยได้มีการเปรียบเทียบระหว่างข้อดีและข้อเสียซึ่งนักวิจัยพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ 1-2 แก้วเล็ก ๆ ต่อวันมีผลดีต่อร่างกายโดยทำให้ช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจ แต่ในทางกลับกันหากดื่มมากเกินไปก็จะเป็นอันตรายกับร่างกาย อาจทำให้เป็นโรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคกระเพาะ โรคตับ และมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ไม่สบายได้ง่ายขึ้น

ในปัจจุบันมีคนบางกลุ่มที่หันมาดื่มไวน์หรือเบียร์เป็นประจำหลังอาหารเพื่อผ่อนคลายจากการทำงานมาทั้งวันและมักที่จะไม่หยุดแค่ 1-2 แก้ว ยิ่งถ้าหากมีเพื่อนหรือในงานเลี้ยงสังสรรค์ด้วยแล้วยิ่งไม่สามารถควบคุมปริมาณได้ เมื่อดื่มมากเกินไปในวันรุ่งขึ้นมักจะมีอาการปวดหัว มึน งง ไม่สดชื่น ทางที่ดีควรพยายามบังคับตัวเอง โดยกำหนดปริมาณของแต่ละวันไม่ให้เกิน

เวลาที่บริโภคอาหารสำคัญหรือไม่? เคยหรือไม่ที่คุณรู้สึกหิวทั้งที่เพิ่งบริโภคอาหารไปไม่นานนัก แต่ก็พยายามบังคับตัวเองไม่ให้บริโภคอะไรเนื่องจากยังไม่ถึงเวลาหรือพยายามลดน้ำหนักอยู่ การที่เรารู้สึกหิวนั้นแสดงว่าร่างกายต้องการสารอาหาร ร่างกายอ่อนล้า การบริโภคอาหารมื้อเล็ก ๆ ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงนั้นเป็นการดีต่อระบบการทำงานของร่างกาย เพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย ทำให้มีความสุขมากขึ้น การที่อดอาหารจะทำให้ร่างกายทำงานได้ไม่ปกติเพราะร่างกายต้องการพลังงาน ร่างกายก็จะพยายามไปดึงพลังงานจากส่วนอื่นออกมาใช้ทำให้ร่างกายขาดความสมดุล ไม่สดชื่น การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนขณะที่หิวไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น เนื่องจากร่างกายต้องการอาหารไม่เพียงแค่เครื่องดื่ม ดังนั้นจึงควรหาอาหารว่างที่มีประโยชน์ติดตัวไว้หากหิวก็จะสามารถบริโภคได้ตลอดเวลา

แล้วอารมณ์ส่งผลต่อการเลือกบริโภคอาหารอย่างไร? เคยหรือไม่ที่เวลาคุณรู้สึกเครียด วิตกกังวล เสียใจ หดหู่ หรือว่าในเวลาที่คุณมีความสุขสุด ๆ แล้วมักจะบริโภคอาหารบางอย่างที่ชอบมากขึ้นกว่าปกติ พฤติกรรมการบริโภคอาหารของเราที่จะเหมือนเดิมหรือมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติได้มีนักวิจัยจาก Cornell University ได้ทำการศึกษาและพบว่าเมื่อคนเรามีความสุขมักจะบริโภคอาหารที่ดีมีประโยชน์มากกว่าในเวลาปกติ และในเวลาที่เศร้าเสียใจ ผิดหวัง คนมักจะหันไปบริโภคอาหารที่รสชาติดีแต่ไม่มีประโยชน์ ในการสำรวจการบริโภคข้าวโพดคั่วในโรงหนังพบว่าในการชมภาพยนตร์ที่มีความเครียดหรือความกดดันผู้เข้าชมจะบริโภคข้าวโพดคั่วมากกว่าปกติ 36% เมื่อเทียบกับหนังรักโรแมนติก ดังนั้นหากคุณอยู่ภายใต้ความกดดัน ความตึงเครียด อ่อนล้า ควรนั่งพัก ออกกำลังกายเบา ๆ หรือคุยกับเพื่อน
สบาย ๆ แทนการเลือกบริโภคอาหาร

ใส่ใจต่ออาหารที่บริโภค
1) เลือกบริโภคอาหารที่มีกรดไขมันที่จำเป็น โอเมก้า-3 เป็นประจำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง โดยแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า-3 ได้แก่ ปลาแซลมอน ทูน่า ซาดีน ถั่ววอลนัท เมล็ดแฟลกซ์ อาจทำเป็นผงผสมใส่ข้าวหรือในโยเกิร์ต
2) ดื่มน้ำให้เพียงพอ 8-10 แก้วต่อวัน และลดปริมาณของเครื่องดื่มจำพวกคาเฟอีน แอลกอฮอล์และเครื่องดื่มประเภทอื่นที่มีน้ำตาลสูง
3) เลือกบริโภคผักและผลไม้ให้หลากหลาย มีสีสันแตกต่างกัน เขียว แดง ม่วง ส้ม เหลือง เพื่อให้ได้สารพฤกษเคมี (Phytochemicals) ซึ่งเป็นสารที่สามารถออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้นและสมองได้รับออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น
4) บริโภคอาหารที่มีใยอาหารสูง ใยอาหารช่วยทำให้ร่างกายสดชื่นโดยการจับกับสารพิษ เช่น โลหะหนักที่ปะปนมากับอาหารที่ส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้สมองหดหู่ ความคิดช้า หงุดหงิด ควรบริโภคใยอาหารวันละ 20-25 กรัม

ข้าวต้มราดหน้ากุ้ง (สำหรับ 2 ที่) | |||
วัตถุดิบ | ปริมาณ | ||
1. | ข้าวต้ม ข้าวซ้อมมือ | 4 ถ้วย | |
2. | กุ้งกุลาดำ | ½ ถ้วย | |
3. | น้ำมันมะกอก | 2 ชต. | |
4. | หน่อไม้ฝรั่ง | 10-15 ต้น | |
5. | กระเทียม | 4 กลีบ | |
6. | ซีอิ๊วขาว | เล็กน้อยตามชอบ | |
7. | พริกไทย | เล็กน้อยตามชอบ | |
8. | น้ำตาล | เล็กน้อยตามชอบ | |
9. | ต้นหอมซอย | เล็กน้อยตามชอบ | |
10. | น้ำซุป | ตามชอบ |
วิธีทำ
1. นำกุ้งมาปอกเปลือก (เหลือส่วนหางไว้)
2. สับกระเทียมให้ละเอียด
3. นำน้ำมันมะกอกเทใส่ในกระทะแล้วเปิดไฟกลาง ใส่กระเทียมลงไปเจียวให้พอหอมแต่ไม่ต้องเจียวจนเหลืองกรอบ (เนื่องจากกระเทียมเมื่อโดนความร้อนเกิน 30 วินาที จะสูญเสียสารพฤกษเคมี)
4. จากนั้นใส่หน่อไม้ฝรั่งกับกุ้ง ผัดจนกุ้งพอสุกใส่พริกไทย น้ำตาล ซีอิ๊วขาว
5. ตักราดบนข้าวต้ม เติมน้ำซุป และโรยหน้าด้วยต้นหอมซอย
คุณค่าทางโภชนาการ | ||
พลังงาน | 330 | แคลอรี |
ไขมัน | 10 | กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 29 | กรัม |
โปรตีน | 25 | กรัม |
ใยอาหาร | 4 | กรัม |