โลว์คาร์บ ไฮโปรตีน อย่างถูกวิธี

ปัจจุบันกระแสของอาหารที่เน้นการบริโภคโปรตีนสูงคาร์โบไฮเดรตต่ำกำลังมาแรงโดยเน้นจุดประสงค์คือการลดน้ำหนัก ซึ่งมักเรียกกันว่า อาหาร “Low Carb” โดยผู้ที่เป็นคนริเริ่มการบริโภคแบบโลว์คาร์บคือ ดร.โรเบิร์ต แอตกินส์ จากหนังสือ Atkins’ Diet ที่เน้นให้กินอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ไข่ มากขึ้นโดยไม่จำกัด รวมถึงไขมันแต่ให้ลดการกินข้าว แป้ง น้ำตาล รวมทั้งคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในผัก ผลไม้ และนมลง เกิดจากความเชื่อของแอตกินส์ที่ว่าความรู้สึกอยากอาหารจะเกิดจากความผิดปกติของสารชีวเคมีในร่างกาย ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการบริโภคแป้งและน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป ในขณะที่การบริโภคไขมันและโปรตีน ไม่มีผลกระตุ้นความรู้สึกอยากอาหารนี้ การได้รับแป้งและน้ำตาลจะส่งผลให้ร่างกายเกิดการสะสมไขมันมากขึ้น

ในทางตรงกันข้ามหากบริโภคอาหารจำพวกโปรตีนและไขมันจะเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นให้ร่างกายสลายไขมันที่สะสมอยู่นำเอาออกมาใช้ นอกจากนี้ยังมีผู้สนับสนุนแนวทางของแอตกินส์อีกไม่ว่าจะเป็น The Zone Diet หรือ South Beach Diet ที่เน้นการบริโภคโปรตีนมากกว่าอาหารในกลุ่มอื่น การกระจายพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน คือ คาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 55-65 โปรตีน ร้อยละ 10-15 ไขมัน ร้อยละ 25-30 ของพลังงานทั้งหมด แต่สำหรับผู้ที่บริโภคอาหารกลุ่มเน้นโปรตีนสูงจะมีสัดส่วนของโปรตีนร้อยละ 30-50 ซึ่งสูงกว่าที่แนะนำไปมาก แต่จากการศึกษาพบว่าไม่ควรที่จะได้รับคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่าร้อยละ 25-40 ต่อวัน

ผลจากการที่บริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูงในระยะหนึ่งจะทำให้ ความรู้สึกอยากอาหารลดน้อยลง ร่างกายจะเริ่มนำเอาไขมันมาเผาผลาญให้พลังงานแทนที่คาร์โบไฮเดรตหรือเรียกว่าภาวะ Ketosis ในภาวะนี้จะทำให้น้ำหนักลดลงแต่ก็มีผลข้างเคียงตามมาคือ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ สับสน อ่อนเพลีย การทำงานของไตผิดปกติเพราะการที่ได้รับโปรตีนสูงไตจะทำงานหนักกว่าเดิมทำให้ไตเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น การที่เน้นการบริโภคแต่เนื้อสัตว์จะทำให้ร่างกายขาดวิตามินและเกลือแร่รวมถึงใยอาหารที่ร่างกายต้องการ เมื่อได้รับโปรตีนสูงร่างกายจะเร่งการขับของแคลเซียมทางปัสสาวะทำให้เกิดปัญหาในผู้ที่บริโภคอาหารโปรตีนสูงเป็นระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกผุ กระดูกพรุนมากกว่าคนปกติ และอีกอย่างที่สำคัญคืออาหารประเภทเนื้อสัตว์จะมีคอเลสเตอรอลอยู่ด้วย หากบริโภคเนื้อสัตว์มากก็มีโอกาสที่จะได้รับปริมาณคอเลสเตอรอลสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูงเป็นระยะเวลานาน และถึงแม้ว่าจะเลือกรับประทานโปรตีนมากกว่าอาหารในกลุ่มอื่น แต่ก็ควรเลือกโปรตีนที่ไขมันต่ำและยังคงต้องมีคาร์โบไฮเดรตอยู่ด้วย เนื่องจากร่างกายโดยเฉพาะสมองต้องการน้ำตาลกลูโคสเพื่อใช้เป็นพลังงาน ซึ่งน้ำตาลกลูโคสจะมาจากการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตนั่นเอง หากขาดน้ำตาลกลูโคสก็จะทำให้การทำงานของระบบประสาทและสมองแย่ลง
ปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหาร 100 กรัม | ||
หมู | ||
ตับหมู | 438 | มก. |
หัวใจ | 400 | มก. |
เซ่งจี้ | 375 | มก. |
กระเพาะหมู | 150 | มก. |
แฮม/ไส้กรอก | 100 | มก. |
เบคอน | 215 | มก. |
กุนเชียง | 150 | มก. |
น้ำมันหมู | 95 | มก. |
เนื้อหมู | 89 | มก. |
ไก่ | ||
ตับไก่ | 746 | มก. |
น่องไก่ | 96 | มก. |
เนื้อไก่ | 80 | มก. |
นม | ||
เนย | 250 | มก. |
เนยแข็ง | 113 | มก. |
น้ำนม | 14 | มก. |
น้ำนมลดไขมัน | 2 | มก. |
น้ำมันพืช | 0 | มก. |
มาการีน | 0 | มก. |

วิธีการเลือกแหล่งที่มาของโปรตีน
- อย่างที่เรารู้กันว่าแหล่งที่มาของโปรตีนก็คือเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ดังนั้นวิธีการเลือกโปรตีนที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่ง การเลือกเนื้อสัตว์ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำอย่างเนื้อไก่ส่วนอกหรือสันใน ดีกว่าเนื้อน่อง คอหมู เนื้อสะโพก และเนื้อที่ติดหนัง
- เลือกเนื้อปลาแทนเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื่องจากมีปริมาณของไขมันอิ่มตัวที่ต่ำกว่าและปลาบางชนิดที่แม้จะดูว่ามีไขมันบ้าง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลากะพง แต่ไขมันในปลาจะเป็นไขมันที่ดี มีไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่มหนึ่งเรียกรวม ๆ ว่าโอเมก้า-3 สองตัว คือ อีพีเอ (EPA) และดีเอชเอ (DHA) ซึ่งหลายงานวิจัยได้ระบุถึงประโยชน์ของโอเมก้า-3 ต่อสุขภาพไว้หลายอย่าง เช่น ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดการเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน ช่วยควบคุมระดับไขมันในเลือด เพิ่มการพัฒนาและประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ตา ลดการอักเสบของร่างกาย ช่วยควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ

- ไข่ เนื่องจากไข่เป็นโปรตีนที่มีคุณค่าสูง นั่นหมายถึงว่ามีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายอยู่ครบถ้วนและมีสารอาหารอื่น ๆ เช่น เหล็ก โฟลิก (Folic acid) ไรโบฟลาวิน (Riboflavin) โคลีน (Choline) วิตามินเอ บี ดี และอี ไข่จัดว่าเป็นโปรตีนที่มีราคาย่อมเยา หาง่าย ไม่เสียง่ายเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น สามารถนำมาปรุงประกอบอาหารได้หลากหลาย แต่เนื่องจากไข่ 1 ฟอง จะมีคอเลสเตอรอลประมาณ 270 มิลลิกรัม ซึ่งอยู่ในไข่แดง ตามคำแนะนำไม่ควรได้รับคอเลสเตอรอลจากอาหารเกินกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน หากรับประทานไข่ 1 ฟอง ก็เท่ากับว่าได้รับคอเลสเตอรอลเกือบจะเท่ากับปริมาณที่แนะนำต่อวันแล้ว ดังนั้นการบริโภคไข่ก็ควรเน้นที่ไข่ขาวรับประทานไข่แดงเพียงเล็กน้อย หลายคนอาจคิดว่าอย่างนั้นไม่บริโภคไข่แดงเลยดีกว่า แต่งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่าหากต้องการให้ได้รับประโยชน์จากไข่ให้มากที่สุดต้องรับประทานไข่แดงด้วยไม่ใช่เพียงแต่ไข่ขาวเท่านั้น

- โปรตีนจากธรรมชาติ เช่น ถั่วเหลือง ในปัจจุบันมีหลายผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าฮวย โปรตีนเกษตร เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ มิโซะ และอื่น ๆ ในถั่วเหลืองมีโปรตีน เลซิติน และกรดอะมิโน รวมทั้งมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไนอะซิน วิตามินบี 1 และบี 2 วิตามินเอและอี ซึ่งสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก ป้องกันการขาดแคลเซียมในกระดูก และบำรุงระบบประสาท สารสำคัญอีกชนิดคือ ไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ลดการเกิดโรคกระดูกพรุน และลดอาการร้อนวูบวาบในหญิงวัยทอง
- นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต ไอศกรีม อาหารในกลุ่มนี้นอกจากจะให้โปรตีนแล้วยังเป็นแหล่งที่ดีของแคลเซียม เสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง รวมถึงช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้นด้วย ควรเลือกนมและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำหรือปราศจากไขมัน และไม่มีการเติมน้ำตาล

- ผักและผลไม้ แม้ว่าจะเลือกการบริโภคแบบโลว์คาร์บไฮโปรตีนก็ตาม ควรที่จะต้องได้รับผักและผลไม้ทุกวัน เนื่องจากผักและผลไม้เป็นแหล่งของสารอาหารที่จำเป็นที่ร่างกายต้องการ เช่น ใยอาหารหรือไฟเบอร์ ร่างกายต้องการใยอาหารวันละ 20-25 กรัม เพื่อช่วยในการขับถ่ายของเสีย ขับสารพิษออกจากร่างกาย และลดระดับคอเลสเตอรอล นอกจากใยอาหารแล้วผักและผลไม้ยังเป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ และสารพฤกษเคมี ที่ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคได้ดี จากงานวิจัยจำนวนมากพบว่าผู้ที่บริโภคผักและผลไม้เป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงได้

แม้ว่าอาหารประเภทโลว์คาร์บไฮโปรตีนจะช่วยเร่งการลดน้ำหนักให้ได้ผลเร็ว เนื่องจากรู้สึกอิ่มเร็วขึ้นแต่การลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้อาจทำให้น้ำหนักกลับคืนมาได้เมื่อเริ่มเบื่อและหันกลับมาบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เนื่องจากพบว่าผู้ที่บริโภคอาหารโลว์คาร์บไฮโปรตีนได้ระยะหนึ่งจะเกิดความเบื่อหน่ายและมีความอยากอาหารประเภทแป้งมากขึ้นจึงทำให้น้ำหนักกลับคืนมาได้ ดังนั้นการลดน้ำหนักที่ดีที่สุด คือ การบริโภคอาหารให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่เหมาะสมและต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมด้วย