อาหารปลอดภัยในช่วงหน้าร้อน

     เข้าสู่ช่วงเดือนเมษายนเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบปี ช่วงหน้าร้อนที่สภาพอากาศและอุณหภูมิสูงขึ้นนั้นเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่ส่งผลต่อการบูดและเน่าเสียของอาหาร เชื้อที่พบได้บ่อย ได้แก่ อีโคไล (E. coli) ชิเกลลา (Shigella) ไทฟอยด์ (Salmonella) สแตฟฟีโลคอกคัส (Staphylococcus) คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) อหิวาตกโรค (Cholera) และลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส (Listeria monocytogenes) เมื่อร่างกายได้รับอาหารที่มีเชื้อโรคเข้าไปก็จะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด โรคอหิวาตกโรค ซึ่งโรคเหล่านี้จะมีความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับและจะรุนแรงมากในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ เช่น ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารในช่วงหน้าร้อนนี้จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก จากการสอบสวนโรคจากผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารพบ 10 เมนูอันตรายที่ควรระมัดระวังในการรับประทาน ได้แก่ ลาบหรือก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ ยำกุ้งเต้น ยำหอยแครง ข้าวผัดโรยเนื้อปู (โดยเฉพาะอาหารกล่องและบรรจุห่อ) อาหารหรือขนมที่ราดด้วยกะทิสด ขนมจีน ข้าวมันไก่ ส้มตำ สลัดผัก และน้ำแข็ง

     อาหารจำพวกส้มตำและยำ เป็นอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารอย่างมาก เนื่องจากส่วนประกอบ และเครื่องปรุงในส้มตำและยำ ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรคและไม่ผ่านความร้อนในการปรุงประกอบ เช่น ปูดอง ปลาร้าที่ไม่ผ่านการต้มสุก มะละกอที่ไม่ได้ล้างให้สะอาด รวมถึงผู้ปรุงอาหารที่หยิบจับสับมะละกอโดยไม่ผ่านการล้างมือให้สะอาด รวมถึงภาชนะที่ใส่อาหาร

     อาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิ เช่น แกงกะทิ น้ำยาขนมจีน แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน และพวกขนมหน้าร้อน เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวเหนียวมะม่วง เพราะเมื่ออากาศร้อนอาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิจะบูดเสียง่าย

     อาหารพวกขนมจีน ซึ่งตัวเส้นขนมจีนที่ทำมาจากแป้ง หากหมักไว้นานเมื่อเจออากาศร้อน ก็จะง่ายต่อการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์เช่นกัน ไม่ควรเก็บนานเกิน 4 ชั่วโมง

      อาหารทะเล เพราะหากเก็บรักษาไม่ดีจะทำให้เกิดการบูดเน่าเสียง่าย โดยเฉพาะกลุ่มหอย ปลา ปลาหมึก จึงต้องมั่นใจว่าปรุงสุก และสะอาดทุกครั้งก่อนรับประทาน ส่วนพวกอาหารค้างคืน อาหารกระป๋องก็เสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารได้เช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ควรรับประทานอาหารให้หมดในมื้อเดียว ไม่ควรเหลือเก็บค้างคืนไว้ แต่หากต้องเก็บก็ควรเก็บในตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนรับประทาน

    เครื่องดื่ม เป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ทั้งน้ำดื่มและน้ำแข็ง เพราะเมื่ออากาศร้อน การได้ดื่มน้ำเย็นๆ ก็ทำให้เย็นสบาย และสดชื่น แต่บางครั้งกระบวนการของการทำน้ำแข็งอาจจะไม่สะอาด ดังนั้น จึงต้องเลือกกินน้ำแข็งที่มั่นใจได้ว่าสะอาด มีคุณภาพปราศจากเชื้อโรค แต่ทางเลือกที่ดีคือดื่มน้ำสะอาดบรรจุขวดที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

หลักการที่ช่วยให้อาหารปลอดภัยในช่วงหน้าร้อน

      เมื่อเราทราบว่ามีอาหารหลายอย่างที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินอาหาร เราจึงต้องป้องกันตนเองจากโรคเหล่านั้น คือ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ เพราะอุณหภูมิสูงในการปรุงประกอบ สามารถลดปริมาณของเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร สำหรับอาหารถุง อาหารกล่อง อาหารบรรจุห่อ ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และรับประทานภายใน 4 ชั่วโมงหลังปรุงสุก อาหารกระป๋อง ต้องดูวันหมดอายุ อาหารค้างคืน หากเหลือและจำเป็นต้องเก็บไว้กินต่อก็ควรแช่ในช่องแช่แข็ง เพื่อลดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ และควรอุ่นด้วยอุณหภูมิความร้อน 70-100 องศาเซลเซียสก่อนรับประทานทุกครั้ง และไม่ควรเก็บไว้เกิน 2 วัน และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ล้างมือทุกครั้งก่อนการรับประทานอาหารหรือปรุงอาหาร เพื่อกำจัดจุลินทรีย์ที่ติดตามมือ วิธีการล้างมือที่ดีที่สุดคือล้างด้วยสบู่และถูเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที และเช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาด

     นอกจากนี้หากผู้บริโภคเป็นผู้ปรุงประกอบอาหารรับประทานเอง ก็ต้องใส่ใจเรื่องวัตถุดิบในการปรุงประกอบด้วย ต้องมั่นใจว่าวัตถุดิบสดสะอาด เช่น ไก่ ผิวต้องมีมัน เปลือกตามีสีแดง ใช้นิ้วกดเนื้อต้องไม่บุ๋มและเด้งกลับ ถ้าไม่เด้งกลับแสดงว่าเป็นเนื้อเก่า เนื้อหมู ไม่ควรมีสีแดงมากเกินไป ปลา สังเกตที่เหงือกปลาต้องเป็นสีแดง ไม่ซีด ส่วนผัก ต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบ เนื้อสัตว์หากยังไม่นำมาปรุงประกอบต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสมโดยทางกรมปศุสัตว์ได้แนะนำไว้ว่าเนื้อสัตว์ควรเก็บไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส และไม่ควรเก็บไว้เกินกว่า 2-3 วันหากต้องการเก็บเพื่อให้ใช้ได้ในระยะยาวต้องเก็บในช่องแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า  -18 องศาเซลเซียส และเมื่อนำออกมาจากช่องแข็งควรให้ละลายโดยการนำมาแช่ตู้เย็นช่องธรรมดาข้ามคืนไม่ควรนำมาแช่ในน้ำ อีกทั้งในยามที่ต้องออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านก็ต้องวางแผนก่อนล่วงหน้าว่าจะเลือกรับประทานร้านไหนที่สะอาด อาจสังเกตจากป้ายการรับประกันความสะอาดของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่คุ้มครองผู้บริโภคได้

    ช่วงหน้าร้อนนี้หากไม่เลือกทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะก็อาจทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหาร อย่างอาหารเป็นพิษหรืออุจจาระร่วงได้ แต่แค่เรารู้จักป้องกันตนเองตามหลักสำคัญ คือ การรับประทานอาหารควรกินร้อน ช้อนกลางและล้างมือทุกครั้ง ก็จะสามารถป้องกันได้ในเบื้องต้น และปลอดภัยจากอาหารที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ ดังนั้นต้องเลือกรับประทานอาหารอย่างระมัดระวัง เพื่อสุขภาพที่ดีตลอดช่วงหน้าร้อน

SHARE