อาหารกับความชรา

คนส่วนใหญ่คงจะเห็นเหมือนกันว่าเวลาที่เราส่องกระจกในแต่ละวันตอนเช้า อยากจะรู้สึกว่าเรานั้นดูดีจังแม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปแทนที่จะรู้สึกว่าทำไมฉันถึงแก่ โทรม และมีรูปร่างไม่ได้สัดส่วนเพียงนี้ เป็นความจริงที่ว่าความชราหรือความแก่นั้นจะเกิดขึ้นกับเราทุกคนโดยไม่สามารถหลีกหนีได้ แต่อาหารบางประเภทที่ไม่ดีต่อสุขภาพยิ่งเร่งทำให้ร่างกายนั้นแก่เร็วขึ้นกว่ากลไกตามธรรมชาติ ทำให้คนบางคนที่รับประทานอาหารไม่ถูกต้องดูมีอายุมากกว่าที่เป็นจริง และไม่ใช่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูแก่ชรา อวัยวะภายในก็ลดประสิทธิภาพการทำงานลง เช่น การทำงานของหัวใจ สมอง กระเพาะอาหาร ปอด ตับ ไต และกระดูก เป็นต้น
จากการศึกษาและวิจัยของแพทย์ทางด้านการต้านความชรา (Anti–Aging) พบว่าการที่ร่างกายได้รับอาหารประเภทอาหารขยะ ซึ่งได้แก่

อาหารที่เต็มไปด้วยไขมันทรานส์ ไขมันประเภทนี้เป็นกรดไขมันที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัวประเภทน้ำมันพืช เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง ให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัวสูง โดยการเติมไฮโดรเจนลงไป ทำให้กลายสภาพเป็นกึ่งของแข็ง เช่น มาการีนหรือเนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม โดยจะมีชื่อบนฉลากอาหารว่าไขมันทรานส์ หรือ Hydrogenated Oil หรือ Partially Hydrogenated Oil โดยไขมันประเภทนี้จะพบได้บ่อยในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อาหารทอด (ไก่ทอด มันฝรั่งทอด กุ้งทอด) ขนมเค้ก คุกกี้ โดนัท พายกรอบ ขนมอบทั้งหลาย การที่มีไขมันทรานส์เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากและเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบต่อเนื่อง ผลตามมาคือร่างกายเสื่อมโทรมเร็วและการผลิตเซลล์ใหม่ ๆ ลดลง สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าไม่ควรที่จะบริโภคไขมันประเภทไขมันทรานส์มากกว่า 1% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมดในแต่ละวัน

อาหารที่มีน้ำตาลสูง รวมถึงอาหารประเภทที่ใช้แป้งขัดขาวจำนวนมากจะทำให้ร่างกายเร่งปฏิกิริยาไกลเคชั่น (Glycation) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเสื่อมของร่างกายหรือชราภาพ และปฏิกิริยานี้จะให้ผลผลิตที่เป็นพิษต่อร่างกายคือ AGEs (Advanced Glycation End–Products) สารตัวนี้ผ่านเข้าสู่เซลล์ร่างกายบริเวณไหนก็จะทำให้เซลล์บริเวณนั้นตายลงหรือการทำงานแย่ลง พอนานวันเข้าก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้น เช่น สารตัวนี้จะไปทำลายสารคอลลาเจนและใยโปรตีนที่ผิวหนังทำให้ผิวเป็นริ้วรอยมีจุดด่างดำ เซลล์สมองเสื่อมทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจและหลอดเลือด ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง โรคเบาหวานโดยความเสื่อมของตับอ่อนทำให้ผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือผลิตได้แต่อินซูลินที่ได้ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน อาหารในกลุ่มนี้ที่ควรลดได้แก่ น้ำอัดลม น้ำชาหรือน้ำสมุนไพรที่มีการเติมน้ำตาลลงไปมาก น้ำผลไม้รสหวาน ขนมปัง โดนัท เค้ก คุกกี้

เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ งานวิจัยในเรื่องของแอลกอฮอล์มีออกมาทั้งการให้ประโยชน์และโทษ แต่หากได้รับแอลกอฮอล์มากเกินไปคือเกิน 2 ดริ้งค์ โดยที่ 1 ดริ้งค์เท่ากับไวน์ 150 ซีซี หรือเบียร์ 1 ขวดเล็ก (330 ซีซี) หากเป็นเหล้าก็ต้องไม่เกิน 45 ซีซี และต้องไม่เกิน 1 ดริ้งค์ ในเพศหญิง และ 2 ดริ้งค์ ในเพศชาย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วย่อมก่อโทษให้แก่ร่างกายอย่างแน่นอน สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งสหราชอาณาจักรแนะว่าแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติในการขับปัสสาวะให้ออกมาจากร่างกายเพิ่มมากขึ้นทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่งผลให้ผิวหนังแห้งและขาดความชุ่มชื้น ทางองค์การอนามัยโลกระบุว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคได้ถึง 60 โรค เมื่อดื่มเข้าไปแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทุกส่วนของร่างกาย ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยไปกดการทำงานของระบบประสาทและสมอง ตับเป็นอวัยวะในการย่อยสลายแอลกอฮอล์ ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะทำให้เกิดปัญหากับตับ เช่น การมีไขมันสะสมที่ตับ โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับได้

อาหารประเภทเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม เปปเปอโรนี ซาลามี่ เนื่องจากอาหารในกลุ่มนี้มักทำมาจากเนื้อสัตว์และไขมันจากสัตว์ที่เป็นไขมันอิ่มตัวและมีการเติมสารเกลือไนเตรต (KNO3, NaNO3) เพื่อทำให้อาหารกลุ่มนี้เกิดสีและกลิ่นที่คงตัว และป้องกันไม่ให้เกิดการเน่าเสียจากแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการหายใจ การบริโภคอาหารที่มีสารไนเตรตมากเกินไปหรือบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้เป็นพิษต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เนื่องจากไนเตรตหรือสารประกอบไนเตรตเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะไปทำปฏิกิริยาออกซิไดซ์กับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือด ทำให้เม็ดเลือดแดงนั้นแปรสภาพไปจากเดิมหรือทำให้เม็ดเลือดแดงตาย จากนั้นกลไกการลำเลียงออกซิเจนก็จะหยุดลง และก่อให้เกิดการอักเสบในอวัยวะภายในร่างกาย นอกจากนี้การศึกษายังพบว่าไนเตรตหรือสารประกอบไนเตรตยังทำให้เกิดสารประกอบไนโตรซามีนซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
จากตัวอย่างที่ได้แสดงให้เห็นว่าการที่เราบริโภคอาหารอย่างไม่ถูกต้องนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เราเกิดความแก่หรือชราได้ก่อนวัย แต่ในทางกลับกันอาหารที่มีประโยชน์และช่วยต้านความชรา เช่น อาหารในสไตล์ของเมดิเตอร์เรเนียนที่พบว่ามีส่วนช่วยลดกระบวนการเปลี่ยนแปลงการทำลายของร่างกายลง สามารถช่วยลดความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการที่มีวัยเพิ่มขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกและไขข้อ และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น โดยอาหารที่พบว่ามีส่วนช่วยให้อ่อนเยาว์กว่าวัย ได้แก่
- ผักสดที่มีน้ำเยอะ เช่น ผักโรเมน ผักกาดขาว ซูกินี แตงกวา ผักกาดแก้ว หัวบวบ
- ผักที่มีสีเขียวเข้ม เช่น ตำลึง บรอกโคลี ผักโขม คะน้า ผักบุ้ง ปวยเล้ง
- ผักที่มีสีแดงหรือส้ม เช่น มะเขือเทศ แครอท ฟักทอง
- ปลาทะเล เช่น ปลาทู ปลาทูน่า ปลากะพง ปลาแซลมอน
- ธัญพืชตระกูลถั่ว เข่น ถั่วลันเตา ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ เลนทิล ลูกเดือย งาขาว งาดำ
- ข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง
การบริโภคอาหารที่ดีก็จะช่วยให้ต้านความชราได้ส่วนหนึ่ง แต่วิถีชีวิตและพฤติกรรมของแต่ละคนก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยต่อต้านความชราได้ โดยควรที่จะออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเอ็นและข้อต่อ หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ เช่น ฝุ่นควันจากรถยนต์ ควันบุหรี่ เสียงดัง คนแออัด และอีกสิ่งที่สำคัญ คือ การรู้วิธีรับมือและจัดการกับความเครียดเพราะความเครียดเป็นอีกตัวการสำคัญที่เร่งกลไกความชราภาพ