ห่างไกลอัลไซเมอร์ด้วยการอ่อนหวาน

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer disease; AD) เป็นโรคที่มีการค้นพบมากกว่า 100 ปี แต่ระยะเวลา 70 ปีหลังนี้ถือเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ประเทศทั่วโลก โรคอัลไซเมอร์นั้นเป็นโรคที่เกี่ยวกับสมองถูกทำลาย โดยรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน่วยความจำ ความคิดและพฤติกรรม จากการสำรวจของ The Alzhiemer’s Association พบว่าปี ค.ศ. 2015 ความชุกของชาวอเมริกันที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ในทุกช่วงอายุประมาณ 5.3 ล้านคน โดยประมาณ 5.1 ล้านคนมีอายุมากกว่า 65 ปี และประมาณ 200,000 คน อายุน้อยกว่า 65 ปี ยิ่งไปกว่านั้นประมาณ 2 ใน 3 ของชาวอเมริกันที่เป็นโรคอัลไซเมอร์เป็นผู้หญิง ขณะนี้โรคอัลไซเมอร์ถือเป็น 1 ใน 10 สาเหตุของการเสียชีวิต โดยปี ค.ศ. 2015 พบว่าชาวอเมริกันประมาณ 700,000 คน เสียชีวิตเนื่องจากโรคอัลไซเมอร์ และมีแนวโน้มที่จะเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงของสมองในช่วงแรกนั้นจะยังไม่มีการส่งสัญญาณใด ๆ ที่บ่งบอกว่าจะเกิดโรคอัลไซเมอร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการจะเริ่มมีมากขึ้น โดยสามารถแบ่งโรคอัลไซเมอร์เป็น 3 ประเภท ซึ่งจะแบ่งตามความรุนแรงของโรค ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์อ่อนหรือระยะแรก (Mild Alzheimer’s disease) โรคอัลไซเมอร์ปานกลาง (Moderate Alzheimer’s disease) และโรคอัลไซเมอร์รุนแรง (Severe Alzheimer’s disease) อาการของโรคอัลไซเมอร์นั้นจะเป็นมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยในช่วงแรกนั้นคนที่เริ่มเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีการจดจำและเรียนรู้ต่อสิ่งใหม่ ๆ ยากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงของสมองนั้นจะเริ่มต้นจากสมองส่วนของการเรียนรู้ ต่อจากนั้นอาการจะเริ่มรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอารมณ์และพฤติกรรม เกิดอาการซึมเศร้า หลบหลีกจากสังคม สับสนเรื่องเวลาและสถานที่ สับสนเรื่องครอบครัว สมาชิกในครอบครัวรวมทั้งเพื่อน และยังเกิดปัญหาในเรื่องการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่าง ๆ สุดท้ายจะเกิดการสูญเสียความทรงจำอย่างรุนแรง เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม เกิดความยากลำบากในการพูด การกลืนอาหารและการเดิน

การเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์นั้น เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (Beta–amyloid) ภายนอกเซลล์สมอง และการสะสมของโปรตีน Tau ที่มีความผิดปกติ (Tau tangles) ภายในเซลล์สมอง ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยจากหลาย ๆ ปัจจัยที่นำไปสู่การพัฒนาภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการล้มเหลวในการส่งข้อมูลในเซลล์สมอง เซลล์สมองมีจำนวนลดลงและตายในที่สุด ซึ่งการสะสมของ Beta–amyloid เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับการส่งผ่านระหว่างเซลล์สมองและส่งผลต่อการสูญเสียเซลล์สมอง ขณะที่ Tau tangles จะขัดขวางการขนส่งสารอาหารและสารที่มีความจำเป็นต่อเซลล์สมองภายใน ซึ่งนั่นถูกเชื่อว่าเป็นการนำไปสู่การสูญเสียของเซลล์สมอง นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ มีการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม (Genetic mutations) มีอายุมากกว่า 65 ปี มีประวัติครอบครัวเป็นอัลไซเมอร์ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน รวมทั้งโรคความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ และอุบัติเหตุทางสมอง เป็นต้น กระบวนการการเกิดโรคอัลไซเมอร์นอกจากจะเกิดจากการสะสมของ Beta–amyloid และ Tau tangles แล้ว ยังมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง การเกิดการอักเสบ และการเกิดอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น เป็นต้น

จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงรวมทั้งเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เนื่องจากการรับประทานอาหารเหล่านี้จะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นภายหลังรับประทานอาหาร จะมีฮอร์โมนอินซูลินเป็นตัวพาน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานสำหรับร่างกายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ หลังจากนั้นระดับน้ำตาลในเลือดจะกลับมาสู่ระดับปกติ แต่ในทางกลับกัน ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเป็นระยะเวลานาน จะเป็นสัญญาณเตือนว่าเซลล์เกิดภาวะอดอาหาร เนื่องมาจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ได้ และเมื่อน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจะส่งผลเสียต่อตา ไต หัวใจ หลอดเลือด สมองและเส้นประสาท อีกทั้งเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจนกระทั่งเกิดโรคเบาหวาน โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าทำให้มีการทำงานของสมองลดลง รวมทั้งมีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมมากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน และยังมีการสะสมของ Beta–amyloid เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้การไหลเวียนเลือดไปสู่สมองได้ไม่ดี และยังลดความสามารถในการกำจัดโปรตีนชนิดนี้ลดลงด้วย

จากการศึกษาของ Arvanitakis และคณะ เป็นการศึกษาแบบติดตามเป็นระยะเวลา 9 ปี พบว่าร้อยละ 65 ของผู้เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์มากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน สอดคล้องกับการศึกษาของ Janson และคณะพบว่าผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 35 หรือผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร้อยละ 46 พบได้ในผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์สูงถึงร้อยละ 80 ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) ซึ่งภาวะดื้อต่ออินซูลินนี้ยังสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย สาเหตุเกิดจากการที่มีระดับอินซูลินในเลือดที่มากส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองที่ลดลง จนบางครั้งอาจจะเรียกโรคอัลไซเมอร์ว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 3 เพราะโรคอัลไซเมอร์นี้อาจจะแสดงถึงการเป็นเบาหวานรูปแบบหนึ่ง ที่มีการเลือกแสดงออกที่สมองโดยการแสดงออกนั้นมีลักษณะเหมือนกับการแสดงออกของโรคเบาหวานที่พบในปัจจุบัน

ในปัจจุบันอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดมีส่วนประกอบของน้ำตาลในปริมาณสูง ทั้งจากตัวอาหารและเครื่องดื่มเอง หรือจากการเติมน้ำตาลลงไปในอาหารและเครื่องดื่มนั้น โดยอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง จะส่งผลโดยตรงกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทาน อาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ อาหารกลุ่มข้าว แป้ง และขนมปัง โดยเฉพาะที่ผ่านกระบวนการขัดสี กลุ่มผลไม้และน้ำผลไม้ รวมทั้งผลไม้อบแห้ง กลุ่มขนมขบเคี้ยว ลูกอม และเครื่องดื่มที่มีการจำหน่ายในท้องตลาด เช่น นมเปรี้ยว ชา กาแฟ เป็นต้น นอกจากอาหารและเครื่องดื่มแล้วยังรวมถึงน้ำตาลทรายและน้ำตาลฟรุกโตสด้วย ดังนั้นการป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์นั้นมีดังต่อไปนี้

- รับประทานอาหารให้สมดุล หลากหลาย และครบทุกมื้อ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของโอเมก้า-3 เช่น ถั่วเปลือกแข็ง ปลาทะเล และอะโวคาโด เป็นต้น
- จำกัดอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง เช่น เนยขาว เบเกอรี เป็นต้น
- เลือกรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี
- เลือกรับประทานอาหารที่มีโฟเลตสูง เช่น ผักใบเขียว ถั่วเมล็ดแห้ง
- จำกัดการรับประทานน้ำตาล ทั้งน้ำตาลทรายและน้ำตาลฟรุกโตสน้อยกว่า 15 กรัมต่อวัน

- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตน (Gluten–free diets) เนื่องจากกลูเตนอาจจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้เกิดการอักเสบและเกิดภาวะต่อต้านภูมิตัวเองซึ่งอาจจะพัฒนาการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้
- จำกัดอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง เครื่องปรุงรสต่าง ๆ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8–10 แก้วต่อวัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30–45 นาที
เอกสารอ้างอิง
- Alzheimer’s Association [Internet]. Chicago: Alzheimer’s Association National Office [cited 2015 Aug 12]. Available from: http://www.alz.org/facts.
- Alzheimer’s Association. Alzheimer’s Disease Facts and Figures. Alzheimer’s & Dementia 2015; 11(3): 332.
- Mayeux R, Stern Y. Epidemiology of Alzheimer Disease. Cold Spring Harb Perspect Med. 2012; 2(8): a006239.
- Mergenthaler P, Lindauer U, Dienel GA, Meise A. Sugar for the brain: the role of glucose in physiological and pathological brain function. Trends in Neurosciences. 2013; 36: 587 – 597.
- Carvalho C, Katz PS, Dutta S, Katakam PV, Moreira PI, Busija DW. Increased susceptibility to amyloid-β toxicity in rat brain microvascular endothelial cells under hyperglycemic conditions. J Alzheimers Dis. 2014; 38(1):75-83.
- Arvanitakis Z, Wilson RS, Bienias JL, Evans DA, Bennett DA. Diabetes mellitus and risk of Alzheimer disease and decline in cognitive function. Arch Neurol. 2004; 61: 661-666.
- Janson J, Laedtke T, Parisi JE, O’Brien P, Petersen RC, Butler PC. Increased risk of type 2 diabetes in Alzheimer disease. Diabetes. 2004; 53: 474-481.
- Barbagallo M, Dominguez LJ. Type 2 diabetes mellitus and Alzheimer’s disease. World J Diabetes. 2014; 5(6): 889-893.
- de la Monte SM, Wands JR. Alzheimer’s disease is type 3 diabetes-evidence reviewed. J Diabetes Sci Technol. 2008; 2: 1101-1113.