การให้ลูกน้อยเริ่มต้น
โภชนาการที่ดีในช่วงขวบปีแรก

ในช่วงหกปีแรกของชีวิตถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองปีแรกจะเป็นตัวกำหนดถึงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนนั้น ๆ เนื่องจากการพัฒนาที่สำคัญต่าง ๆ ของร่างกายจะเจริญเติบโตในช่วงเวลานี้ เช่น การพัฒนาของสมองและความจำ การผลิตเซลล์กล้ามเนื้อและกระดูก การเพิ่มขึ้นของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การที่เด็กในวัยนี้มีสุขภาพดี ได้รับโภชนาการที่ถูกต้องจะนำมาสู่การเรียนรู้ที่ดีและการมีสุขภาพที่ดีในวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่และผู้ปกครองที่จะช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารที่ดีและเพียงพอ
ในช่วงหนึ่งปีแรกของชีวิต ร่างกายของทารกจะมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดซึ่งทำให้ทารกมีการเรียนรู้ต่ออาหารหลากหลายประเภทและหลากหลายรสชาติและรสสัมผัส ทารกจะมีการพัฒนาการของปาก ลิ้น และระบบทางเดินอาหาร ทารกจะเริ่มจากการดูด กลืน และเริ่มจากของเหลวไปจนถึงเริ่มเคี้ยวได้ ในช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือน สิ่งที่ทารกต้องการมากที่สุด คือ นมแม่ โดยนมแม่จะช่วยให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรงตามธรรมชาติและเป็นสายใยรักจากแม่และลูกได้ผูกพันกัน ในนมแม่มีคุณค่าทางอาหารสูงและมีสารที่ช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายของทารกแข็งแรงขึ้นและยังส่งผลดีต่อแม่ด้วยเนื่องจากการศึกษาระบุว่าแม่ที่ให้นมลูกจะมีส่วนช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ นมแม่อย่างเดียวเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของลูก หากทารกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอหรือมีอาการแพ้นมก็จำเป็นที่จะต้องได้รับนมดัดแปลงที่เหมาะสมกับสภาพของทารกและในนมดัดแปลงควรมีธาตุเหล็กเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย

การให้นมดัดแปลงในทารกที่มีการเจริญเติบโตปกติเร็วเกินไปจะทำให้แม่ผลิตน้ำนมได้ลดลงและหากหยุดการให้นมลูกในระยะหนึ่งจะเป็นการยากหากแม่ต้องการที่จะกลับมาให้นมลูกอีกครั้ง หลังจาก 6 เดือนไปแล้วทารกควรได้รับอาหารอย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อที่จะได้รับสารอาหารและเป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้อาหารแต่ละชนิด พ่อแม่บางคนคิดว่าต้องรอจนกว่าทารกจะมีฟันขึ้นจึงจะสามารถให้อาหารได้ แต่ความจริงแล้วทารกสามารถใช้เหงือกบดเคี้ยวอาหารได้และเป็นการดีเพราะช่วยฝึกการเรียนรู้ต่าง ๆ สารอาหารที่ทารกต้องการเหมือนกับวัยผู้ใหญ่แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของปริมาณและสัดส่วน เช่น พลังงาน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี แคลเซียม ไอโอดีน เหล็ก

กลุ่มอาหาร | สารอาหารที่มีอยู่ | แหล่งอาหาร |
เนื้อสัตว์ | โปรตีน เหล็ก สังกะสี | เนื้อไก่ เนื้อปลา เนื้อหมู นม เต้าหู้ |
ธัญพืช ข้าว แป้ง | โปรตีน เหล็ก ใยอาหาร วิตามิน คาร์โบไฮเดรต | ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว มัน เผือก |
ผัก-ผลไม้ | วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี | กล้วย ผักโขม แอปเปิลบด แครอท มะม่วงสุก |
ไขมัน-น้ำมัน | ไขมัน วิตามินอี | เนย น้ำมันพืช |
นม | ไขมัน โปรตีน แคลเซียม วิตามินดี | นมแม่ นมวัว นมดัดแปลง |

มื้ออาหาร | 0-6 เดือน | 6-8 เดือน | 9-11 เดือน | 12-15 เดือน |
เช้า | นมแม่ | ข้าว/มันบด ¼ ถ้วย ผลไม้บด ¼ ถ้วย | ข้าว/มันบด ½ ถ้วย ผลไม้บด ¼ ถ้วย | ข้าว/มันบด ½ ถ้วย ผลไม้บด ¼ ถ้วย |
กลางวัน | นมแม่ | ผักต้มบดเช่นผักโขม ตำลึง แครอท ¼ ถ้วย ผลไม้บด ¼ ถ้วย | ผักบดผสมเนื้อสัตว์เช่นเนื้ออกไก่ เนื้อปลา ½ ถ้วย ผลไม้บด ¼ ถ้วย | ผักบดผสมเนื้อสัตว์เช่นเนื้ออกไก่ เนื้อปลา ½ ถ้วย ผลไม้บด ¼ ถ้วย |
เย็น | นมแม่ | ข้าว/มันบด ¼ ถ้วย ผลไม้บด ¼ ถ้วย | ผักต้มบด ¼ ถ้วยอาจเริ่มให้ผักหลากหลาย เนื้อสัตว์บดเล็กน้อย | ผักต้มบด ¼ ถ้วย ข้าว/มันบด ¼ ถ้วย อาจเริ่มให้ผักหลากหลาย เนื้อสัตว์บดเล็กน้อย |
เสริม | นมแม่ | นมแม่ 700-900 มิลลิลิตร หรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารก 3-4 ครั้งต่อวัน หลังอาหารหรือระหว่างมื้ออาหาร | นมแม่ 700-900 มิลลิลิตร หรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารก 3-4 ครั้งต่อวัน หลังอาหารหรือระหว่างมื้ออาหาร *หากทารกกินอาหารเป็นมื้อได้มากขึ้นอาจลดปริมาณนมหรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารกลงได้ | นมแม่ 500-700 มิลลิลิตร หรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารก 3-4 ครั้งต่อวัน หลังอาหารหรือระหว่างมื้ออาหาร *หากทารกหิวสามารถให้ผลไม้บดหรือกล้วยแก่ทารกได้ แต่ไม่ควรบังคับให้ทารกกินอาหารเมื่อทารกอิ่มแล้ว *ในระยะนี้ทารกสามารถนั่งได้โดยลำพัง ใช้เหงือกในการบดอาหาร เริ่มใช้นิ้วหยิบจับอาหาร |
ข้อควรรู้สำหรับอาหารทารก

- อาหารที่ให้ทารกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ควรเป็นอาหารอ่อนนิ่ม ควรใช้วิธีการบดเพื่อให้ย่อยได้ง่ายแต่ไม่ควรใช้วิธีการปั่นละเอียดเนื่องจากวิธีการนั้นจะทำให้อาหารละเอียดเกินไปทารกจะไม่ได้ฝึกทักษะการบดเคี้ยวอาหารในปาก อาหารควรมีความหยาบอยู่บ้าง เมื่ออายุ 1 ปี สามารถให้อาหารเหมือนผู้ใหญ่ได้แต่ควรมีขนาดคำที่เล็ก ๆ
- ฝึกให้ทารกกินอาหารในรสชาติใกล้เคียงกับธรรมชาติของอาหารนั้น ๆ มากที่สุด หลีกเลี่ยงการเติมสารปรุงแต่งรสชาติอาหารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา เกลือ น้ำตาล น้ำส้ม ผงปรุงรสทั้งหลาย เนื่องจากทารกยังไม่ต้องการรสชาติเหล่านั้น ทารกสามารถกินอาหารได้โดยไม่ต้องการการปรุงแต่ง ส่วนมากจะเป็นพ่อแม่ผู้ดูแลเสียเองมากกว่าที่คิดว่าอาหารรสจืด กลัวทารกจะไม่อร่อย

- หลีกเลี่ยงน้ำผักผลไม้ เนื่องมาจากน้ำผักผลไม้มีน้ำตาลสูงกว่าการบริโภคผักผลไม้ทั้งผล การที่บริโภคผักผลไม้ทั้งผลยังทำให้ได้สารอาหารอื่นที่ดี เช่น ใยอาหาร และช่วยทำให้ระบบทางเดินอาหารของทารกดีขึ้น
- ในกลุ่มของผลไม้ควรเริ่มทีละอย่างเพื่อให้ทารกได้รู้จักรสชาติของแต่ละชนิด และป้องกันการแพ้อาหาร ผลไม้ควรเป็นประเภทที่สุกหรืองอมเล็กน้อยเพื่อจะได้นิ่มและบดเคี้ยวได้ง่าย เช่น กล้วย มะม่วงสุก ลูกพีช มะละกอสุก กีวี
แคนตาลูป

- กลุ่มของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ให้โปรตีน ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่อ่อนนุ่ม เช่น เนื้อปลา เนื้ออกไก่ เต้าหู้นิ่ม ถั่วเขียวต้ม หากทารกไม่ยอมบริโภคเนื้อสัตว์ควรลองโดยการผสมเนื้อสัตว์กับข้าวบดหรือมันบด แม้ว่าโปรตีนจะเป็นสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อทารก แต่หากให้โปรตีนมากเกินไปก็จะทำให้ไตของทารกทำงานหนัก ส่งผลเสียต่อไตในภายหลังหรือทำให้ขาดน้ำได้ ปริมาณของโปรตีนที่แนะนำคือ อายุ 0–6 เดือน 1.52 กรัม/น้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม และอายุ 7–12 เดือน 1.2 กรัม/น้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม สำหรับไข่ควรรอให้ทารกอายุเกินกว่า 1 ปีก่อนถึงเริ่มให้เพื่อป้องกันการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นได้

- กลุ่มของนมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต ชีส ไม่ควรเลือกแบบไขมันต่ำหรือไร้ไขมันเนื่องจากทารกต้องการไขมันในการเจริญเติบโต พร้อมกับวิตามินดี และไม่ควรให้นมถั่วเหลืองแทนนม หากทารกสามารถกินนมปกติได้ ถ้าพ่อแม่อยากให้นมถั่วเหลืองสามารถให้เป็นอาหารว่างแต่ไม่ควรแทนที่นมทั้งหมด
- อาหารที่ให้แก่ทารกจะส่งผลต่ออุจจาระของทารกทั้งสีและกลิ่นซึ่งจะแตกต่างจากตอนที่เมื่อทารกได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว พ่อแม่ควรที่จะสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยเพื่อได้ดูปริมาณอาหารที่ทารกกินเข้าไปและขับถ่ายออกมา หากอุจจาระแข็งแสดงว่าร่างกายขาดน้ำต้องให้น้ำเพิ่มเติม เนื่องจากเมื่อทารกมีอายุมากกว่า 6 เดือน และมีการให้อาหารอย่างอื่นนอกจากนมแม่หรือนมดัดแปลงแล้ว ร่างกายของทารกจะต้องการน้ำมากขึ้นหากได้น้ำไม่เพียงพอจะส่งผลต่อระบบขับถ่ายทั้งปัสสาวะและอุจจาระ
- ในการให้อาหารทารกในช่วงแรก อาจมีอาการสะอึกเป็นช่วง ๆ พ่อแม่ไม่ต้องตกใจ เนื่องจากอาการนี้เป็นอาการปกติของร่างกายที่ช่วยป้องกันร่างกายไม่ให้สำลักอาหาร แต่ควรหยุดให้อาหารระหว่างสะอึกและรอให้อาการสะอึกหายไปเอง

- อาหารที่มักก่อให้เกิดการแพ้ในทารก ได้แก่ อาหารประเภทถั่วลิสง ช็อกโกแลต ไข่ นมวัว น้ำผึ้ง ดังนั้นไม่ควรให้ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี กินอาหารเหล่านี้ อาการที่พบได้หากเกิดการแพ้อาหาร เช่น ผื่น คัน ไอ จาม น้ำมูก น้ำตาไหล หอบ ท้องเสีย หรืออาเจียนหลังได้รับอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้

***หน้าที่ของพ่อแม่คือการให้อาหารที่ดีต่อทารกโดยเลือกจากประเภทอาหารที่ได้คุณภาพและปลอดภัยส่วนในเรื่องของปริมาณและความต้องการให้ทารกเป็นผู้ตัดสินใจ อย่าบังคับให้ทารกต้องกินอาหารเมื่ออิ่มแล้ว สังเกตอาการของทารกเมื่อหิวจะอ้าปากและเมื่ออาหารใกล้ปากจะทำท่าเคี้ยว เมื่ออิ่มจะเบือนหน้าหนีจากอาหารหรือคายอาหารออกมา พ่อแม่ก็ควรที่จะหยุดการให้อาหาร ทารกแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันจึงไม่ควรนำลูกของเราไปเปรียบเทียบเรื่องปริมาณและอาหารที่ลูกชอบกินกับเด็กคนอื่น สิ่งที่สำคัญที่พ่อแม่ควรเอาใจใส่คือการพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์และการเรียนรู้ของทารก การที่ทารกมีสุขภาพดีในวัยนี้จะช่วยลดการเกิดโรคในวัยผู้ใหญ่***