การเสพติดอาหาร

เมื่อพูดถึงคำว่า เสพติด คนทั่วไปมักจะคิดถึงยาเสพติด การติดเหล้า ติดบุหรี่ หรือของมึนเมาต่าง ๆ คงไม่มีใครคิดว่าอาหารที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ก็สามารถทำให้เราเกิดการเสพติดได้เช่นเดียวกัน เช่น การติดช็อกโกแลต ติดขนมหวาน ติดมันฝรั่งทอด ถั่วทอด เป็นต้น เมื่อไม่ได้บริโภคจะเกิดความอยาก กระสับกระส่าย หงุดหงิด และเมื่อได้บริโภคบางครั้งจะไม่อยากหยุดจนกว่าอาหารตรงหน้าจะหมดไป อาการเหล่านี้บางคนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะต้องนำมาใส่ใจ และไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อสุขภาพของตนเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสพติดอาหารจะส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง จากการศึกษาพบว่าในปัจจุบันนี้โรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุงมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นและเป็นปัญหาต่อสังคมและเศรษฐกิจ

ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการเสพติดอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสพติดอาหารที่มีน้ำตาลสูงหรือการติดรสชาติหวาน การติดอาหารที่มีไขมันสูงกลุ่มอาหารทอด ขนมเบเกอรี และอาหารที่มีความเค็ม เช่น มันฝรั่งทอด เนื้อทอด ไก่ทอด หมูปิ้ง ซอสปรุงรสต่าง ๆ นักวิชาการด้านโภชนาการได้ทำการศึกษาถึงการเสพติดอาหารของคนพบว่าคนที่มีการเสพติดอาหารจะมีสารเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลงเหมือนคนที่เสพติดของมึนเมา โดยพบว่าความหวานจะทำให้คนติดมากที่สุด รองมาคือความเค็ม และความมัน เมื่อได้บริโภคอาหารที่ตัวเองเสพติดสารโดปามีนจะหลั่งออกมาทำให้เกิดความสุข ทำให้อารมณ์ดี ตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิทำงานได้ดีขึ้น จึงเกิดเป็นการเสพติดเพราะต้องการที่จะได้รับความสุขเพื่อทำงานได้มากขึ้น จนบางครั้งทำให้กินอาหารประเภทนั้น ๆ บ่อยและมากเกินไป ผลที่ตามมาคือทำให้ได้รับพลังงานและสารอาหารบางอย่างมากเกินกว่าความต้องการของร่างกายทำให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นและตามมาด้วยโรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ

พฤติกรรมที่บ่งบอกว่าเสพติดอาหาร
- เลือกซื้ออาหารชนิดหนึ่งเป็นประจำมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- รับประทานอาหารชนิดนั้นมากกว่าที่วางแผนว่าจะรับประทานหรือเมื่อได้รับประทานแล้วจะหยุดไม่ได้
- มีความอยากรับประทานอาหารชนิดนั้นมากกว่าอาหารชนิดอื่น
- รับประทานอาหารชนิดนั้นแม้ว่าจะไม่หิวเลยก็ตาม
- เมื่อไม่ได้รับประทานอาหารชนิดนั้นจะทำให้จิตใจไม่เป็นสุขเกิดความหงุดหงิด อารมณ์เสีย หรือเกิดอาการแสดงออกทางร่างกาย เช่น ปวดหัว มือสั่น ใจสั่น หน้ามืด
- ขาดสมาธิเมื่อไม่ได้รับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ
- หาข้ออ้างหรือเหตุผลในการรับประทานอาหารชนิดนั้นเสมอ

แนวทางการแก้ไขการเสพติดอาหาร
- วางแผนการรับประทานอาหารในแต่ละวันและพยายามทำให้ได้ตามแผน สามารถรับประทานอาหารที่เสพติดอยู่ได้แต่กินให้น้อยลงและกินเฉพาะในมื้ออาหารเท่านั้น
- พยายามเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แทนที่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น หากติดการรับประทานน้ำหวานอาจเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นผลไม้รสหวานแทนและรับประทานผลไม้ที่ไม่หวานร่วมด้วย
- ทำการจดบันทึกพฤติกรรมการบริโภคว่าอาหารที่เราเสพติดนั้นเรามีความถี่ในการบริโภคมากน้อยแค่ไหน
- ถามตัวเองก่อนที่จะรับประทานอาหารที่เสพติดว่าต้องการจริง ๆ หรือไม่ และต้องการปริมาณเท่าใดถึงจะพอ การถามตัวเองก่อนจะช่วยลดปริมาณความอยากอาหารลงได้
- พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการซื้อหาหรือมีอาหารที่เสพติดอยู่
การเสพติดอาหารแม้ว่าจะฟังดูไม่น่ากลัวเหมือนการเสพติดอย่างอื่นแต่ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกัน ดังนั้นหากเราสามารถที่จะลดการเสพติดอาหารได้ก็จะทำให้เรามีความสุขกับการรับประทานอาหารได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นและทำให้สุขภาพดีตามมา