นักกำหนดอาหารช่วยดูแลสุขภาพ
ของท่านได้อย่างไร

นักกำหนดอาหารคือใคร

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “นักกำหนดอาหาร” แต่ก็ไม่แน่ใจว่าคือใคร คนมักจะชินกับอาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักสาธารณสุข แต่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำว่า นักกำหนดอาหาร วิชาชีพนักกำหนดอาหาร หรือ Dietitian “นักกำหนดอาหาร” คือผู้ที่ช่วยกำหนดว่าอาหารและสารอาหารที่เราควรจะได้รับควรเป็นอย่างไรโดยประเมินจากภาวะสุขภาพในปัจจุบันเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีและเหมาะสมต่อบุคคลนั้น ๆ มากที่สุด สามารถที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจ อธิบายถ่ายทอดหลักการ กระบวนการ แนวทางทางวิชาการด้านอาหารและโภชนาการได้อย่างมีเหตุและผล ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตามข้อมูลที่มีงานวิจัยรองรับ

ทำไมนักกำหนดอาหารจึงมีความสำคัญ

นักกำหนดอาหารมีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นผู้ที่เรียนเกี่ยวข้องกับอาหารโดยตรง ซึ่งต่างจากแพทย์ที่เรียนเรื่องโรค การวินิจฉัยโรค การรักษาโรค แต่สำหรับนักกำหนดอาหารต้องเรียนพื้นฐานวิทยาศาสตร์สุขภาพ กายวิภาค เคมี ชีววิทยาและเรียนวิชาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาหาร การบำบัดโรคด้วยอาหาร การคำนวณอาหารที่เหมาะสมตามสภาวะของแต่ละบุคคล เช่น คนที่ต้องลดน้ำหนัก ไม่ใช่ว่าจะใช้หลักการหรือรูปแบบอาหารเหมือนกันได้ในทุกคน เพราะบางคนอาจมีเรื่องของโรคที่เป็นอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง หรืออายุที่แตกต่างกัน หรือระบบเมตาบอลิซึมของร่างกายที่แตกต่างกัน แต่เดิมนักกำหนดอาหารในประเทศไทยจะต้องขึ้นทะเบียนวิชาชีพโดย “สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย” โดยจะได้รับคำว่า กอ.ช หรือ CDT ต่อท้าย ซึ่งย่อมาจาก “นักกำหนดอาหารวิชาชีพ” หรือ “Certified dietitian of Thailand” ซึ่งจะมีการจัดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นประจำทุกปี
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งการกำหนดอาหารเป็นการกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการวินิจฉัยปัญหาโภชนาการ โดยการประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วย วิเคราะห์ และวางแผนการให้โภชนบำบัด ให้คำปรึกษา ติดตาม ประเมินผล ส่งเสริมและฟื้นฟูภาวะโภชนาการ และดัดแปลงอาหารเฉพาะโรคให้เป็นไปตามแผนการรักษา เพื่อให้เหมาะสมกับโรคและภาวะโภชนาการทั้งในช่วงที่สุขภาพดีและมีการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคที่รักษาด้วยยาอย่างเดียวไม่พอต้องมาอาศัยการบริโภคอาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ สาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือกำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะให้มีคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหาร ทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียน ออกใบอนุญาต เพิกถอนใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขานั้น ๆ อีกทั้งยังเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนและขอขึ้นใบอนุญาต ซึ่งจะต้องเป็นผู้ได้รับใบปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าสาขาการกำหนดอาหารจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพรับรองอีกด้วย นักกำหนดอาหารจึงจะสามารถเขียนใบสั่งอาหารเพื่อกำหนดอาหารให้ผู้ป่วยบริโภคในแต่ละมื้อเหมือนที่แพทย์สั่งยาได้
นักกำหนดอาหารต้องเรียนอะไรมาบ้าง

กว่าจะมาเป็นนักกำหนดอาหารนั้นไม่ใช่ว่าใครที่อบรมด้านอาหารและโภชนาการก็จะมีความรู้ความเข้าใจที่จะเป็นนักกำหนดอาหารได้ วิชาชีพนักกำหนดอาหารต้องผ่านการเรียนอย่างน้อย 4 ปี กับหลักสูตรเฉพาะที่ต้องเรียนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิชาเฉพาะ เช่น ชีวเคมีทางอาหาร โภชนคลินิก โภชนบำบัด การประเมินภาวะโภชนาการ หลักการจัดอาหาร หลักการกำหนดอาหาร อาหารและโภชนาการของมนุษย์ อาหารตามวัย วิทยาศาสตร์อาหาร จริยธรรมในนักกำหนดอาหาร หลักการวิจัย การให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ โภชนาการในชุมชน และที่สำคัญต้องมีการฝึกงานที่โรงพยาบาลร่วมกับชุมชนทั้งด้านของคลินิก การให้คำปรึกษา การให้โภชนบริการซึ่งต้องมีจำนวนของการฝึกงานรวมกันไม่น้อยกว่า 900 ชั่วโมง เพื่อที่จะได้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ก่อนที่จะออกมาให้ความรู้กับบุคคลอื่น
สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรของนักกำหนดอาหารระดับปริญญาตรี ได้แก่
- คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์
- คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา
- ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สาขาวิชาโภชนศาสตร์และการกำหนดอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หน้าที่ของนักกำหนดอาหารที่แตกต่างจากผู้ที่มีความรู้ทางโภชนาการอื่น ๆ

หน้าที่ของนักกำหนดอาหาร คือ ต้องกำหนดอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะของบุคคลนั้น ๆ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีมากที่สุด ดังนั้นเมื่อเจอกับนักกำหนดอาหาร นักกำหนดอาหารจะทำการประเมินภาวะโภชนาการรายบุคคลก่อนว่าแต่ละบุคคลมีโรคหรือมีปัญหาทางสุขภาพอย่างไร ในการประเมินภาวะโภชนาการสามารถประเมินตั้งแต่น้ำหนัก มวลไขมัน มวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูก เส้นรอบวงเอว เส้นรอบวงสะโพก การเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ความดันโลหิต การประเมินทางห้องปฏิบัติการ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมัน การทำงานของตับ การทำงานของไต ค่าการอักเสบในร่างกาย การประเมินทางคลินิกดู ผม ผิว เล็บ ตา กล้ามเนื้อ รวมไปถึงการประเมินอาหารที่บริโภคว่ามีการบริโภคอาหารเป็นอย่างไร หลังจากประเมินผลเสร็จโดยการคำนวณ หรือการใช้รูปแบบต่าง ๆ แล้ว นักกำหนดอาหารก็จะทำการวิเคราะห์ร่วมกับบุคคลนั้นเพื่อกำหนดรูปแบบอาหารที่บริโภคให้เหมาะสมทั้งในเรื่องความเหมาะสมกับรูปแบบการดำเนินชีวิต รูปแบบการออกกำลังกาย ภาวะเศรษฐกิจและสังคมซึ่งต้องมีการนัดพบเพื่อประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพราะแต่ละบุคคลอาจมีภาวะโภชนาการแตกต่างกัน บางครั้งรูปแบบอาหารต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันของแต่ละคนให้มากที่สุด นักกำหนดอาหารยังคงมีหน้าที่เฝ้าติดตามภาวะโภชนาการจนกว่าบุคคลนั้นจะเป็นปกติหรือมีภาวะสุขภาพที่ดี ช่วยปรับเปลี่ยนเพิ่ม/ลด อาหาร สารอาหารเพื่อให้เหมาะสม
นักกำหนดอาหารจะช่วยให้สุขภาพดีอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

จุดมุ่งหมายของนักกำหนดอาหาร คือ การทำให้คนมีสุขภาพดี มีความสุข และสามารถนำความรู้ที่ได้จากนักกำหนดอาหารไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่อง นั่นหมายถึงเกิดความยั่งยืนของการมีสุขภาพที่ดี นักกำหนดอาหารจะคอยช่วยดูแล ปรับรูปแบบอาหารให้เหมาะสมที่สุดเพื่อให้บุคคลนั้นมีแรงกาย แรงใจ สุขภาพกายดี สุขภาพใจดีอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน หรือช่วยให้ คนกลายเป็นคนเต็มอิ่ม นั่นคือ อิ่มท้อง อิ่มกาย และอิ่มใจ
SHARE